ค้นหา

ศก.ฟื้นตัวดีขึ้น ‘เงินเฟ้อ’ลดลง จับตาภาระหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย
เข้าชม 167 ครั้ง

“แบงก์ชาติ” ยันเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2567 ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังขยายตัวในระดับต่ำ รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออกช่วยหนุน แจงจับตาเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลังแรงส่งยังไม่เสถียร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จำนวน 3.04 ล้านคน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวลาว ยุโรป ไม่รวมรัสเซียและอินเดีย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ จีนและมาเลเซีย ชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรอเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือน ก.พ. ขณะที่รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะ 1.สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปยังอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย 2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกอุปกรณ์สื่อสารไปฮ่องกงและสหภาพยุโรป และ 3.ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังอินเดียและญี่ปุ่น แม้การส่งออกปิโตรเคมีไปจีนยังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกในบางหมวดปรับลดลง อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และชิ้นส่วนประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไปสหรัฐ

ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง ตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

“ภาพรวมในเดือน ม.ค.2567 ดีขึ้นจากเดือน ธ.ค.2566 แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้ว่าแนวโน้มจะปรับดีขึ้นมาจริง แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวได้ในระดับต่ำ ดังนั้นแรงส่งต่างๆ ยังไม่คล่องตัวมากนัก มีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้กระทั่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ตอนนี้อาจจะไม่ลงต่อ อยู่ในช่วงพักฐานแล้ว แต่ก็ต้องดูว่าจะกลับไปลงต่อหรือไม่ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แต่ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้าก็ถือว่าดีขึ้นบ้าง แต่ยังขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าคาด” น.ส.ชญาวดีกล่าว

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสด จากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

อย่างไรก็ดี ในส่วนของด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ม.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.94% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.43% จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางส่วนชะลอการผลิต

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 10.30% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีเอ็มพีไอหลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

“เศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ก.พ.2567 เริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ทั้งยังจำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร” นางวรวรรณกล่าว.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipost.net/one-newspaper/544010/