ค้นหา

นักวิจัยไทยใช้รังสีอินฟราเรด วิเคราะห์ “แจงสุรนารี” หาสารสำคัญสร้างมูลค่าเพิ่ม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เข้าชม 256 ครั้ง

นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนใช้รังสีอินฟราเรดวิเคราะห์ “แจงสุรนารี” พรรณไม้ที่เคยค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี 2564 เดินหน้าหาสารสำคัญเพื่อพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์หรือเวชสำอาง สร้างมูลค่าเพิ่มพรรณไม้เฉพาะถิ่นโคราช

ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อาคารสิรินธรวิชโชทัย ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

นายรุ่งเพชร ปัญญาวุฒิ ผู้รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายสำนักงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มทร.สุรนารี

และนายรุ่งเพชร ปัญญาวุฒิ ผู้รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายสำนักงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.มทส.) และนักวิจัยของศูนย์ ศึกษาลักษณะกายวิภาคศาสตร์เมล็ด แจงสุรนารี และแจงสยาม ร่วมกันวิเคราะห์การใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์ “แจงสุรนารี” พรรณไม้ที่เคยค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี 2564 และเดินหน้าหาสารสำคัญเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าให้กับแจงสุรนารีซึ่งเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นจังหวัดนครราชสีมา

ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ได้ร่วมกับ นายรุ่งเพชร ปัญญาวุฒิ ผู้รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายสำนักงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.มทส.) และนักวิจัยของศูนย์ ศึกษาลักษณะกายวิภาคศาสตร์เมล็ด แจงสุรนารี และแจงสยาม โดยใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอน เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ จัดจำแนกความแตกต่างระหว่างชนิด และวิเคราะห์สารสำคัญเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่า

นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวต่อว่า ต้นแจงเป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์และสรรพคุณของต้นแจง เช่น แก้ลดไข้, แก้วิงเวียน, แก้ปวดเมื่อย ซึ่งทีมวิจัยได้พิสูจน์ความเป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดแจงสุรนารี โดยใช้เทคนิค SR IR microspectroscopy เปรียบเทียบเมล็ดแจงสุรนารีกับเมล็ดแจงสยามที่เก็บตัวอย่างจากในพื้นที่ ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ผลการวิเคราะห์พบว่า เมล็ดแจงสุรนารีนั้น มีปริมาณไขมันที่สูงกว่าเมล็ดแจงสยาม ขณะที่เมล็ดแจงสยามมีปริมาณโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่สูงกว่า

ปรียบเทียบเมล็ดแจงสยาม (ซ้าย) กับ เมล็ดแจงสุรนารี (ขวา)

ดร.กาญจนา กล่าวอีกว่า ข้อมูลเบื้องต้นนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การศึกษาเชิงลึก เช่น การหาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ การหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์หรือเวชสำอาง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาพืชสมุนไพรของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อไป

ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มทร.สุรนารี

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การค้นพบแจงสุรนารี เกิดจากทีมสำรวจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เก็บตัวอย่างและสำรวจในพื้นที่ อ.สีคิ้ว และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 ดร.ปรัชญา ศรีสง่า นักพฤกษศาสตร์ จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ รศ.ดร.สันติ วัฒฐานะ นักพฤกษศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ อพ.สธ.มทส. ตรวจสอบชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้อง พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Maerea koratensis Srisanga & Watthana และตั้งชื่อไทยว่า “แจงสุรนารี” ที่มาของชื่อมาจากชื่อระบุชนิด “koratensis” คือ โคราช หมายถึงจังหวัดแหล่งที่พบ และพบเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น โดยชื่อไทยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท้าวสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2768174?gallery_id=5