ค้นหา

ไทยเฮ! คว้าสิทธิ์เจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลก ‘โคราช เอ็กซ์โป 2029’ หนุนเงินสะพัด 18,942 ล้านบาท

กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
เข้าชม 244 ครั้ง

สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIPH) ประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029” การได้รับสิทธิ์จัดงานระดับโลกครั้งนี้จะช่วยยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวนภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจีอนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future)

“โคราช เอ็กซ์โป 2029” หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573 ถือเป็นงานมหกรรมระดับโลก ประเภท A1 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานจำนวน 2.6 – 4 ล้านคน

การจัดงานครั้งนี้จะนำเสนอแนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature and Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 โดยนับเป็นการจัดงานมหกรรมระดับโลกครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนั้นอีกด้วย

การประกาศผลการคัดเลือกให้จังหวัดนครราชสีมาได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 มีขึ้นระหว่างการประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในวันที่ 6 มีนาคม โดยผู้แทนจากทีมประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมและนำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในรอบสุดท้ายประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ลำดับถัดไป ไทยจะต้องเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) เพื่อให้ได้รับการพิจารณารับรองเป็น Certified License Host ของงาน เนื่องจากมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานระดับ A1 ตามเกณฑ์ของ BIE

นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูตณกรุงโดฮารัฐกาตาร์ ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพจัดงาน เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและพืชสวนของประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ โดยงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 จะเป็นเวทีระดับนานาชาติ นำเสนอแนวทางการทำพืชสวนที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม มุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะเมืองเจ้าภาพ จังหวัดนครราชสีมาพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก เพื่อสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ผสานกับวิสัยทัศน์ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน การจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 ครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมเมืองโคราช โดยยกฐานะสู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียว

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการประมูลสิทธิ์การจัดงาน ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งหวังด้านการสร้างมรดกที่ยั่งยืนและประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยกล่าวว่า โคราช เอ็กซ์โป 2029 ถือเป็นงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ในการส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมพืชสวนผ่านการปลูกพืชเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ร่วมพัฒนาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกสำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสำหรับบทบาทในการคว้าสิทธิ์จัดงานครั้งนี้ อาทิ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และภาคีเอกชนในจังหวัด

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 คาดการณ์ว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipost.net/general-news/547300/