UBE ผนึกภาครัฐ เพิ่มผลผลิตต้นแบบ 7 ตันต่อไร่มันสำปะหลังอินทรีย์ ยั่งยืนในหลักตลาดนำการผลิต ต่อยอดอุบลโมเดล ขยายพื้นที่สู่ ‘อีสานตอนล่าง 2 โมเดลพลัสนวัตกรรม’
บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE นำโดย น.ส.สุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายความยั่งยืนองค์กร และรัฐกิจสัมพันธ์ ให้การต้อนรับ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะส่วนราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ ร่วมสรุปผลงานวิจัยการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พร้อมกับหน่วยงานวิจัยนำโดย นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าตรวจเยี่ยมแปลงเกษตกรต้นแบบนายรังสรรค์ อยู่สุข ตำบลนาคาย อ.ตาลสุม พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินกิจการธุรกิจเอทานอล และธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ณ สำนักงานใหญ่ UBE จ.อุบลราชธานี
ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา UBE ได้ร่วมวิจัยหัวข้อการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม สำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์ ภายใต้ทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. พร้อมแสดงผลวิจัยภายในงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำ ปี 2567” ตามโครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต”
ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของ UBE กับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้เกษตรกรใน 3 พื้นที่อาสาร่วมเป็นแปลงต้นแบบวิจัยทั้งหมด 36 แปลง นำร่องในพื้นที่ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.ยโสธร โดยผลการศึกษาพบว่า แปลงของเกษตรกรต้นแบบ ที่ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ 1 ไร่ มีน้ำหนักต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 2.2 กิโลกรัม/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 3.84 กิโลกรัม/ต้น คิดเป็นร้อยละ 74.55 มีจำนวนหัวต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 13.2 หัว/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 15 หัว/ต้น คิดเป็นร้อยละ 13.64 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยจากเดิม 4.6 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ตัน/ไร่ คิดเป็นร้อยละ56.52 และมีเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 26 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27
การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม สำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยนำปัจจัยการผลิตที่ได้มาจากกากเอทานอลที่ได้รับการย่อยหลังการหมักยีสต์ในแอลกอฮอล์ มาปรับปรุงด้วยจุลินทรีย์ หมักทิ้งไว้ในช่วงเวลาที่ถูกต้องคือ 90 วันตามหลักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล จนเกษตรกรเรียกติดปากว่า “สารปรับปรุงดินไบโอฮับ” (BioHub) ที่บริษัทฯ ได้ขอการรับรองมาตรฐาน IFAOM ซึ่งกระบวนการนี้คือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดมูลค่าทางการเกษตร พร้อมกันนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไป ปัจจุบัน UBE มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ระดับสากล จำนวนประมาณ 800 ราย พื้นที่รวมประมาณ 10,000 ไร่ พร้อมตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การรับรองมาตรฐานมันสำปะหลังอินทรีย์ในระดับสากลให้ได้ 50,000 ไร่ ในปี 2568 โดย UBE ยังมุ่งเป้ายกระดับการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังผ่านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในการพัฒนาด้านการเกษตรให้สามารถเป็นวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้กับลูกค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไปพร้อมๆ กัน
อนึ่ง การยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรมันสำปะหลังถือเป็นเจตนารมณ์ที่ UBE มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายผลความสำเร็จของโครงการอุบลโมเดลพลัส ที่สามารถวางรากฐานที่แข็งแกร่ง และสร้างเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้ตามเป้าหมาย สู่ “โครงการอีสานล่าง 2 โมเดลพลัสนวัตกรรม” ครอบคลุมพื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ ผ่านการผสานความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับ สวทช. และสวพ.4 กรมวิชาการเกษตร อาทิ การผลิตท่อนพันธุ์สะอาด การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ชุดตรวจโรคใบด่าง รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ และการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการประกันราคามันสำปะหลังอินทรีย์ที่สูงกว่าราคามันสำปะหลังทั่วไป พร้อมส่งเสริมปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องกำจัดวัชพืช สารชีวภัณฑ์แช่ท่อนพันธุ์ PGPR3 เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบที่สามารถนำแนวคิดเทคโนโลยี นวัตกรรมขยายผลสู่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอินทรีย์รายอื่นๆ เพื่อให้บริษัทฯ มีวัตถุดิบสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์สุขภาพของโลก และรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ทาสุโกะ (Tasuko) สอดคล้องนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครบทุกมิติสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยหลักบรรษัทภิบาล เพื่อสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ทางพลังงาน และอาหารแห่งอนาคต