ธรรมนัส ดัน โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” วงเงิน 33,530 ล้านบาท ชี้ให้เกษตรกรมีส่วนร่วม 4.68 ล้านครัวเรือน เป้าหมายสนับสนุนค่าปุ๋ยในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม เตรียม เสนอ นบข.เห็นชอบ และคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2567 ว่า ข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศในหลายมิติ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยส่งออกข้าวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี เป็นอันดับสองรองจากยางพารา มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวกว่า 4.68 ล้าน ครอบครัวหรือประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน เนื่องจากราคาผลผลิตแปรปรวน ต้นทุนการผลิตมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยวัตถุดิบดังกล่าวประเทศไทยต้องนำเข้า อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีต้นทุนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้พยายามให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประมาณปีละ 54,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามมาตรา 28 ของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องของประเทศ
เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุน การผลิตและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งถือเป็นการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากตลอดระยะเวลา แสดงให้เห็นว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการสร้างความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ดำรงชีพอยู่ได้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จึงมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
โดยสนับสนุนปุ๋ยที่เหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในรูปแบบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการซื้อปุ๋ย เพื่อเพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าถึงปัจจัยการผลิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดความเดือดร้อนในการใช้ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ และปริมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยในการลดต้นทุนการผลิตข้าว รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะดินเสื่อมสภาพ ตลอดจนเพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
เป้าหมายโครงการฯ สนับสนุนค่าปุ๋ยในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 1,000 กิโลกรัม) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน แยกเป็น 1) เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าว) 2) เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำและชนิดเม็ดและขึ้นบัญชีนวัตกรรม)
กรอบวงเงิน 33,530 ล้านบาท แยกเป็นจากเงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความโครงการฯ 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท และมอบหมายกรมการข้าว ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการและงบประมาณต่อไป
“การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมนัดแรกภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ซึ่งนายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาของพี่น้องชาวนา โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการในการเร่งขยับราคาข้าวให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้รับเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่ามาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาของภาครัฐ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหามาตรการในการลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อดำเนินการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้ทันในฤดูกาลที่จะถึงนี้ สำหรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วม โดยเกษตรกรออกครึ่งหนึ่ง รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตข้าว ใช้ปัจจัยการผลิตตรงตามเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนอย่างจริงจัง
ซึ่ง ผลที่คาดว่าจะได้รับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวให้สนองความต้องการของตลาด อีกทั้ง ยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐได้ถึงปีละ 20,770 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือชาวนา ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งใช้เงินปีละประมาณ 54,300 ล้านบาท” รมว.ธรรมนัส กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่ง นบข. เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ลงวันที่ 6 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เพื่อให้พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการผลิตข้าวไทย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิผลดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการผลิตข้าวไทย
โดยมีองค์ประกอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการข้าว เป็นเลขานุการ และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1) เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการ และมาตรการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการผลิตข้าวและศักยภาพของชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ 2) ประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 3) แต่งตั้งคณะทำงาน หรือที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุ นบข.ด้านการผลิต เห็นสมควร 4) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและ ความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุ นบข.ด้านการผลิต 5) รายงานผลการดำเนินงานต่อ นบข. ต่อไป และ 6) ปฏิบัติงานอื่นตามที่ นบข.มอบหมาย