ค้นหา

อัปเกรด ‘สับปะรดภูแล’ เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ สู่ Zero waste

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 782 ครั้ง

โครงการการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ และการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ในห่วงโซ่การผลิต และการแปรรูปสับปะรดภูแล จ.เชียงราย “มจธ.” สร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์วัสดุเศษเหลือในกระบวนการแปรรูปสับปะรดภูแล เพิ่มมูลค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้วยรสชาติที่หอมหวานและความกรอบที่ลงตัว ทำให้ “สับปะรดภูแล” เป็นสินค้า GI (Geographical Indication) ของจังหวัดเชียงราย ที่มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีนทั้งในรูปของผลสด ผลปอกเปลือกหรือตัดแต่งก่อนส่งออกติดต่อกันทุกปี จนทำให้ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกสับปะรดชนิดนี้ในจังหวัดเชียงรายมากกว่า 5 หมื่นไร่ มีผลผลิตมากกว่าหนึ่งแสนตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งและการผลิตสับปะรดภูแลมีวัสดุเศษเหลือใช้เป็นจำนวนมากซึ่งมีศักยภาพในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งกระบวนการผลิตสับปะรดในขั้นตอนต่างๆ ต้องคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอนเนื่องมาจากข้อกำหนดการนำเข้าสินค้าของต่างประเทศ

รวมถึงผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับ “ฉลากคาร์บอน” (Carbon Label) มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากของวัสดุเศษเหลือในกระบวนการผลิต และเพื่อให้ได้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแล โดยวิธีการเก็บข้อมูลและโดยวิธีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ คือสิ่งสำคัญที่จะให้ทำให้สับปะรดภูแล ของจังหวัดเชียงราย คงศักยภาพในการแข่งขันในตลาดประเทศจีนรวมถึงในประเทศอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นที่มาของ “โครงการการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ในห่วงโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแลของจังหวัดเชียงราย” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

เศษเหลือใช้จากสับปะรด เพิ่มมูลค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ภายใต้โครงการระยะ 1 ปีนี้ (เริ่มดำเนินงาน เม.ย. 66) ประกอบด้วย งานวิจัยย่อย 2 เรื่อง คือ

(1) การวิเคราะห์ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการการปลูกและแปรรูปสับปะรดภูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตที่รวมถึงออกแบบกระบวนการทางคณิตศาสตร์และอัลกอริทึมร่วมกับการใช้ภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับสำหรับใช้วิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดกระบวนการปลูกสับปะรดภูแล

และ (2) แนวทางการเพิ่มมูลค่าและ/หรือสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์วัสดุเศษเหลือในกระบวนการแปรรูปสับปะรดภูแลตามแนวทาง Zero waste โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลกับอุตสาหกรรมในภาพรวม อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการจัดการผลผลิตที่เป็นผลดีทั้งกับสิ่งแวดล้อมและตลาดสับปะรดภูแลทั้งในไทยและต่างประเทศ

หากเรามีตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ในไร่จนถึงโรงงาน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ได้มาซึ่งฉลากคาร์บอนที่มีความถูกต้องและนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ได้จริง ข้อมูลนี้ยังเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้สื่อสารกับเกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันในการปรับเปลี่ยนวิธีการทั้งในไร่และในโรงงาน เพื่อลดตัวเลขของการปล่อยก๊าซคาร์บอนบนฉลากคาร์บอนของผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลลดลงมา อันจะทำให้เกิดยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ของผู้นำเข้าและผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ทำวิจัยร่วมกับเราทั้งในชุดโครงการนี้และก่อนหน้า พบว่าการตัดแต่งสับปะรดภูแลเพื่อส่งออกนั้น จะมีเศษเหลือต่างๆ ทั้งใบ เปลือก และส่วนอื่นๆ มากถึงร้อยละ 60 การนำของเหลือทิ้งมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่า นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้และช่วยลดขยะของเสียแล้ว ยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำไปลดตัวเลขบนฉลากคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง

โดรนและปัญญาประดิษฐ์ วิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การวิเคราะห์ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการการปลูกสับปะรดภูแลนั้น “รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์” จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า จะต้องทำการเก็บข้อมูลปริมาณทรัพยากรที่ใช้ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนถึงกระบวนการเกี่ยวเก็บผลผลิต เช่น ปริมาณน้ำ ประเภทและปริมาณปุ๋ย สารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณหาปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นและถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการใช้ทรัพยากรทั้งหมด

“ใช้ข้อมูลปริมาณทรัพยากร เช่น ชนิดสารเคมี ข้อมูลปริมาณและความถี่ที่ใช้ เพื่อนำมาแปลงเป็นปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการปล่อยคาร์บอน โดยใช้วิธีการคำนวณขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นแนวทางการรับรองภายในประเทศ”

ผลพบว่า “วัสดุเศษเหลือทิ้ง” จุกและใบ หลังการเก็บผลผลิต ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด” หากทิ้งไว้ในไร่จนเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นร้อยละ 58 ของกระบวนการในไร่ทั้งหมด รองลงมา คือ การใช้ปุ๋ย (ร้อยละ 26) และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 15) ตามลำดับ

AI อัจฉริยะ คำนวณปริมาณคาร์บอนแม่นยำ รวดเร็ว
ผศ.ดร.สอนกิจจา บุญโปร่ง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยร่วมโครงการใช้ “โดรน” เทคโนโลยีการเก็บภาพมุมสูง ร่วมกับ อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์ วิเคราะห์ฐานข้อมูลจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ทรัพยากรนำมาประมวลผล/ประเมินปริมาณคาร์บอนที่จะเกิดในแต่ละช่วงการปลูกจนถึงการเก็บผลผลิต กล่าวว่า โดรนสามารถเก็บภาพถ่ายพื้นที่ปลูกสับปะรดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำรวมถึงใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ภาพที่ถ่ายมาได้ด้วยกล้องจะเก็บภาพในช่วงคลื่นต่างๆ ทั้งช่วงสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และอินฟราเรด

“โดยการสร้างอัลกอริทึมหรือสมการที่ใช้คำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในไร่สับปะรด ด้วยการนำข้อมูลค่าของช่วงคลื่นจากการบินโดรนกับฐานข้อมูลปริมาณคาร์บอนที่ได้จากการใช้ปริมาณทรัพยากรในไร่มาให้ระบบ AI คำนวณและสร้างอัลกอริทึมที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลสองชุดนี้

จากโครงการระยะที่ 1 ใช้ข้อมูลจากการบินโดรน 7 ไร่ ไร่ละ 7 ครั้ง หรือเท่ากับ 49 ชุดข้อมูล ซึ่งการสร้างอัลกอรึทึมการคำนวณปริมาณคาร์บอนจาก AI ทำให้สามารถสร้างโมเดลการทำนายที่ต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ และที่สำคัญคือเมื่อทำการใส่ข้อมูลใหม่ลงไป AI ก็จะสามารถปรับปรุงให้สมการการคำนวณมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น สำหรับงานในระยะที่ 2 ที่จะเริ่มกลางปีนี้ จะมีการนำภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS 1 และ 2 ของคนไทย มาปรับใช้แทนภาพถ่ายจากโดรน เพื่อขยายผลสู่พื้นที่ปลูกสับปะรดูแลบริเวณกว้างขึ้น

นอกจากนี้ รศ. ดร.ทรงเกียรติ กล่าวว่า จะเป็นการวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสับปะรดตัดแต่งจากโรงงานที่จะทำให้ได้ข้อมูลของวัฏจักรคาร์บอนตลอดห่วงโซ่การผลิตอันจะนำไปสู่การขอรับรอง “ฉลากคาร์บอน” ของผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลต่อไป

“น้ำตาลหายาก” จากสับปะรดภูแล สู่สินค้ามูลค่าสูง

ในส่วนของงานวิจัย “นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสับปะรดภูแล” ที่ทีมวิจัยจากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในการนำเปลือกเหลือทิ้งของสับปะรดภูแลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สารมูลค่าสูงอย่างน้ำตาลหายาก (Rare Sugar) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่มีมูลค่าสูง นำมาใช้ในวงการอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

รศ. ดร.วาริช ศรีละออง คณบดีคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. หัวหน้าโครงการวิจัย เล่าว่า จากการวิเคราะห์คุณภาพของตาสับปะรดภูแลเหลือทิ้งทีมวิจัยพบว่ามีสารสำคัญหลายชนิดที่มีศักยภาพเพียงพอ และสามารถสกัดเป็นน้ำตาลหายาก (Rare Sugar) ที่เป็นสารมูลค่าสูงได้

“น้ำตาลหายาก” เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่หาได้ยากในธรรมชาติ พบในปริมาณน้อย แม้จะมีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลทั่วไป แต่จะมีคุณสมบัติที่พิเศษมากกว่า คือ น้ำตาลให้ความหวานน้อย แต่มีความสามารถในการส่งเสริมให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ดีในร่างกายเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ให้โทษในร่างกาย ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น ตรงกับโจทย์ความต้องการของคนในปัจจุบัน

การสกัดน้ำตาลมูลค่าสูงจากเปลือกสับปะรดเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนำตาของสับปะรดที่ถูกตัดทิ้งไปทำการอบแห้งก่อนส่งมาวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมี และสกัดเป็นน้ำตาลหายากที่คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ซึ่งตาสับปะรดอบแห้งที่ได้จะถูกนำไปบดเป็นผงละเอียดเพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติและนำไปใช้สำหรับการสกัดน้ำตาลหายาก

โดยเลือกใช้วิธีทางชีววิทยาแทนการใช้สารเคมีในการสกัดแบบวิธีดั้งเดิม ด้วยการใช้จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการสกัดน้ำตาลหายากออกมาจากสับปะรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุลินทรีย์กับสับปะรดจะทำปฏิกิริยากันในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bio-Reactor) ที่่ควบคุมตัวแปรหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และระยะเวลา จนได้เป็นสารสกัดน้ำตาลที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหายาก

ก่อนจะนำไปทำเป็นผงน้ำตาลด้วยกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) ซึ่งผลผลิตที่ได้มีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของน้ำตาลที่บริโภคทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคและยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

รศ. ดร. วาริช กล่าวเสริมอีกว่า ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาของนักวิจัยกลุ่มต่างๆ ยังพบว่านอกจากน้ำตาลหายากที่สกัดได้จะมีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ดีในร่างกายแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเบาหวาน โรคอ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือด รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และนำไปใช้ในการรักษาคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทีมวิจัยตั้งใจจะทำในอนาคตด้วย

อัปเกรด 'สับปะรดภูแล' เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ สู่ Zero waste

ถาดใบสับปะรด PALF Tray จากใบสับปะรดเหลือใช้

ผศ.ดร. พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ และ ผศ.ดร. สุทธิวัลย์ สีทา สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการปลูกสับปะรดอยู่ 27,000 ไร่ เฉลี่ย 60-65 ตัน/ปี และใน 1 ไร่ จะมีใบสับปะรดที่ต้องตัดทิ้งในทุกฤดูกาลประมาณ 2 ตัน ใบสับปะรดที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมากเหล่าเราได้นำมาสร้างเป็นถาดใบสับปะรด ที่มีความเหนียวกว่าใบตองและใบจาก อีกทั้ง ยังใช้เวลาในการย่อยสลายเพียง 1-3 เดือน (ขึ้นอยู่กับความหนาของถาด) ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาถาดใบสับปะรดต่อไปในอนาคต

เทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล ช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพสับปะรดภูแล

เนื่องจากสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสูงทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคมีโอกาสเน่าเสียและสูญเสียคุณภาพได้ง่ายระหว่างการขนส่งก่อนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการส่งออกสัปปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

และเป็นที่มาของการนำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล หรือเทคโนโลยีฟองอากาศที่มีขนาดเล็กระดับไมโครและนาโน มาใช้ยืดอายุและรักษาคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคเพื่อการส่งออก โดยทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

โดยเป็นผลงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เพื่อทำการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้กับผู้ประกอบบการแปรรูปสับปะรดภูแลและเกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง

รศ. ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. ในฐานะหัวหน้าทีมนักวิจัยและผู้พัฒนาเครื่องล้างผัก ผลไม้ ด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซไมโครนาโนบับเบิ้ล กล่าวว่า สำหรับการนำเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล หรือเครื่องผลิตฟองอากาศที่มีขนาดเล็กระดับไมโครนาโนมาใช้กับสับปะรดภูแล เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทผักหรือผลไม้ตัดแต่งพร้อมทานจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อที่ก่อโรค เกินกว่ามาตรฐานที่ อย.กำหนด เช่น เชื้ออีโคไล เชื้อยีสต์ ซาโมเนลล่า เป็นต้น

เพราะเป็นสิ่งที่บริโภคทันที ฉะนั้นจึงต้องผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดเป็นอย่างดี ซึ่งคุณสมบัติเด่นของไมโครนาโนบับเบิ้ล คือ ฟองอากาศที่เกิดจากไมโครนาโนบับเบิ้ลนั้น มีขนาดที่เล็กมาก มีความคงตัวสามารถกระจายอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน และมีพื้นที่ต่อปริมาตรสูงช่วยเพิ่มความสามารถในการละลายสารหรือก๊าซใดๆ ที่ใช้ฆ่าเชื้อใส่ลงไปในน้ำล้าง เช่น สารประกอบคลอรีน ก๊าซโอโซน เป็นต้น ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการล้างทำความสะอาดได้ดีและมีประสิทธิภาพ ลดการใช้สารเคมี และลดการสิ้นเปลืองน้ำที่ใช้ล้างอีกด้วย

“การใช้ไมโครนาโนบับเบิ้ลล้างผักผลไม้ที่อาจมีสิ่งสกปรกติดอยู่ตามร่องเปลือกผิวหรือเปลือกของผักผลไม้ ฟองอากาศที่กระจายอยู่ในน้ำนั้น จะช่วยนำสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนพื้นผิวของผักผลไม้ให้หลุดลอยออกมาจากพื้นผิว และโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์หลุดออกมาจะไปสัมผัสกับสารฆ่าเชื้อที่เราใส่เข้าไปได้มากกว่า จึงทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ดียิ่งขึ้น เราจึงเลือกเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ลนี้เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการล้าง”

อัปเกรด 'สับปะรดภูแล' เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ สู่ Zero waste

สำหรับเครื่องล้างผักผลไม้ไมโครบับเบิ้ลต้นแบบที่พัฒนาขึ้น มีขนาดความจุ 100 ลิตร เพื่อใช้ในการสาธิตและทดลองการล้างสับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคของโรงงานแปรรูปสับปะรด บริษัท เบตเตอร์ ฟรุ๊ตส์ จำกัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในฐานะผู้ร่วมวิจัยซึ่งมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการตัดแต่งผักผลไม้พร้อมบริโภคและเป็นโหนดในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และใกล้เคียงได้เข้ามาทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย

ประโยชน์ของเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล

ประโยชน์ของเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลที่เด่นชัด คือสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต, ลดการใช้แรงงาน, ลดระยะเวลาการล้าง, ลดปริมาณการใช้น้ำจากปกติการล้างจะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง แต่น้ำที่ใช้เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลจะสามารถใช้ซ้ำได้บ่อยๆ ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรลงได้, ลดการใช้สารเคมีลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่ต้องใส่สารคลอรีนในน้ำเพื่อการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสัดส่วน 100%

แต่ถ้านำเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเข้าไปร่วมจะใช้สารคลอรีนเพียง 50% ขณะที่ค่าใช้จ่ายของเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเป็นต้นทุนคงที่และเมื่อเทียบกับเครื่องล้างผักผลไม้นำเข้าที่ไม่ใช้เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลแล้วยังมีราคาถูกกว่าการน้ำเข้าเครื่องล้างผักผลไม้จากต่างประเทศครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ จากองค์ความรู้เทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ลที่มจธ.ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมากกว่าสิบปี นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับหน่วยงานและผู้ที่สนใจตามภูมิภาคต่างๆ แล้ว ยังได้พัฒนาเครื่องและวิธีการใช้งานเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลให้กับภาคเอกชน

ซึ่งจากผลการทดลองกับบริษัท เบตเตอร์ ฟรุ๊ตส์ จำกัด ระยะเวลา 2 ปี พบว่า เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในสัปปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคได้ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการดั้งเดิม และลดปริมาณการใช้สารเคมีในการฆ่าเชื้อกว่า 50% ซึ่งทางคณะวิจัยคาดหวังว่าหลังจากนี้เทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ลจะถูกนำไปสู่การใช้จริงกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1120571