ค้นหา

ฟื้นฟูระบบ ‘สวนยกร่อง’ รับมือเมืองขยาย – Climate Change

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ,มูลนิธิชีววิถี
เข้าชม 226 ครั้ง

ฟื้นฟูระบบ ‘สวนยกร่อง’ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) รวมชนิดและสายพันธุ์ของผลไม้เมืองร้อน ต้นแบบการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช และระบบเกษตรเชิงนิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งรับน้ำและป้องกันน้ำท่วม

ระบบสวนยกร่อง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเกษตรที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่อดีตในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการเกษตรเชิงนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การทำสวนในพื้นที่ลุ่มน้ำที่น้ำท่วมถึง ดินเป็นดินเหนียวที่ไม่ร่วนซุยแต่มีอินทรียวัตถุที่สูง มีการยกคันดินด้านในพร้อมมีร่องน้ำ เป็นทั้งการจัดการดินที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งน้ำตามธรรมชาติไปในตัว เพื่อให้สามารถปลูกต้นไม้เมืองร้อนได้แม้จะเป็นที่ลุ่มก็ตาม

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายว่า การฟื้นฟูระบบสวนยกร่องที่เริ่มหายไปจากปัจจุบัน เริ่มมีการสนับสนุนให้กลับมาทำมากขึ้น เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและโรงงาน น้ำเสีย น้ำเค็ม น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) และมูลค่าของที่ดินที่สูงขึ้น และได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสวนยกร่องว่า มีคุณค่าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น

  • การรวบรวมชนิดและสายพันธุ์ของผลไม้เมืองร้อน
  • เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช และระบบเกษตรเชิงนิเวศ
  • ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นปอดของเมืองและดูดซับ PM 2.5 ได้
  • เป็นแหล่งรับน้ำและป้องกันน้ำท่วม

จัดระบบนิเวศ สวนยกร่อง อย่างไร

ทั้งนี้ ชาวสวนสามารถจัดระบบนิเวศให้เหมาะสมกับไม้ผลเมืองร้อน เช่น ทุเรียน ร่วมกับพืชอื่น ๆ ได้โดย

1. การจัดการดินและน้ำ โดยการสร้างคันดินกันน้ำท่วม ยกระดับดินเป็นร่องให้มีการระบายน้ำและอากาศ รวมถึงเอื้อให้มีการปรับปรุงดินได้ง่าย

2. การจัดการแสงแดด ลม และความชื้นในอากาศ โดยการปลูกพืชพี่เลี้ยง พืชนำร่องในการบำรุงดินหรือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตเป็นอาหาร เพื่อเป็นการเพิ่มร่มเงา ป้องกันการสูญเสียความชื้นในอากาศจากแสงแดด

3. การจัดการระบบการปลูกพืช พืชที่ต้องการแสงมากหรือให้ร่มเงามาก จัดการให้ปลูกบริเวณคันดินรอบนอก ด้านในปลูกพืชต่าง ๆ ที่ต้องการร่มเงา ความชื้น และน้ำ ตามความต้องการของพืชที่ปลูก

4. การทดลองนำชนิดพืช และการพัฒนาสายพันธุ์พืชมาปลูก เมื่อมีความชื้นที่เหมาะสม ปริมาณน้ำที่เพียงพอ ร่มเหงาที่ครอบคลุม นำไปสู่การพลิกแพลงนำไม้ผลที่ต้องการอากาศเย็นมาปลูกได้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มาปลูกในระบบสวนยกร่อง การเริ่มนำพืชสายพันธุ์ดีต่าง ๆ มาปลูกในระบบสวนยกร่อง จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันและนำไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตอีกด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึง ในการปลูกแปลงแบบยกร่องแปลง

1) ลักษณะของปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งพิจารณาตามระดับความสูงของน้ำในพื้นที่ บางที่น้ำอาจท่วมไม่สูง บางทีท่วมขังสูงหรือสูงมาก ซึ่งจะแปรผันไปตามความสูงของคันดินรอบแปลง

2) เงินทุนและแรงงาน เป็นปัจจัยหลักที่ต้องเตรียม เพราะการทำแปลงยกร่องต้องใช้ต้นทุนทั้งเงินทุนและแรงงานในช่วงแรกของการขุดท้องร่อง

3) ต้องมีการขุดลอกร่องคลองเพื่อนำดินมาเสริมคันร่องทุกปี หากไม่มีการเสริมร่องอาจทำให้ดินทรุดตัวและต้นไม้ล้มเป็นอันตรายได้

4) ความสามารถของดินในการกักเก็บน้ำ ใช้ในการพิจารณาระดับความลึกของร่องที่ต้องขุด เพื่อการใช้น้ำที่เพียงพอ

5) แหล่งน้ำ แปลงปลูกควรปลูกใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น คลอง เพื่อให้ง่ายต่อการชักน้ำเข้าแปลง

สวนยกร่อง มีกี่ประเภท 

สำหรับสวนยกร่อง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะที่ตั้งสวนใกล้ ไกล แม่น้ำหรือคลองสายหลัก ชนิดพืช ที่ปลูกก็มีความแตกต่างกัน นำมาสู่การจัดการสวน ดิน และน้ำที่ต่างกัน ดังนี้

สวนจิงเลน หรือ สวนตีนเลน

สวนตีนเลนหรือสวนจิงเลน สวนประเภทนี้ เป็นที่ดินอ่อนชายน้ำ น้ำขึ้นถึง ตั้งอยู่ห่างจากคลองสาธารณะเส้นทางหลัก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา คลองอ้อมนนท์ ไม่เกิน 400 เมตร ประสบกับน้ำท่วมสวนในฤดูน้ำเหนือหลากแทบทุกปี ทำสวนลักษณะยกร่องใช้ปลูกผลไม้ เช่น ชมพู่สีนาก มะไฟ มะพร้าว ละมุด กล้วย อ้อย โดยยกคันสวนสูงมาก เพื่อป้องกันน้ำ

สำหรับในท้องร่องที่ยังมีน้ำขังอยู่ มีท่อเปิด-ปิด น้ำเข้า-ออกได้ สามารถปลูกข้าว ผักกระเฉด ผักบุ้งและยังมีกุ้ง หอย ปู ปลา หลากหลายชนิดเข้ามาอาศัยเมื่อตอนน้ำท่วมตกค้างอยู่จำนวนมาก จึงเป็นอาหารและรายได้เสริม

สำหรับชาวสวน ดินเชิงเลนเป็นดินโคลน ขุดลงไปไม่เจอดินดาน ชาวสวนจะนำขึ้นมาพอกบนต้นไม้เป็นสารอาหารหรือปุ๋ยแก่ต้นไม้ สวนเชิงเลนไม่นิยมขุดร่องน้ำในสวนรอบกันสวนทั้งสี่ด้าน จะมีเพียงหนึ่งหรือสองด้านเพื่อที่จะอาศัยยันน้ำช่วงน้ำหลากไม่ให้คันนาสวนล้ม

สวนดอน

สวนดอน สวนประเภทนี้ตั้งอยู่ถัดเข้ามาในแผ่นดิน ต่อจากสวนตีนเลนหรือจิงเลน ห่างจากคลองสาธารณะเส้นหลักเกิน 400 เมตร บางส่วนที่ไกลมาก มักจะเป็นทุ่งนา และนาบางแปลงก็ปรับเปลี่ยนเป็นสวนยกร่อง ชาวสวนจะทำคันดินกั้นน้ำติดกับคลองธรรมชาติหรือคลองขุดขึ้นเป็นคลองซอยย่อยหรือลำประโดง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสาธารณะเส้นหลัก ชาวสวนนิยมปลูกพืชผลไม้ยืนต้นประเภททุเรียน ส้มโอ มะนาว ส้มเขียวหวาน กระท้อน มะปราง มังคุด มะม่วง ลิ้นจี่ ขนุน มะไฟ มะพร้าว เป็นต้น ชาวสวนมักจะขุดท้องร่องสวนให้ใหญ่และลึกเพื่อกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้ง

สวนยกร่อง เมืองนนท์

พื้นที่ จ.นนทบุรี ซึ่งประสบปัญหาภัยพิบัติ ได้รับผลกระทบทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม มาโดยตลอด กระทั่งปี 2554 ต้องเผชิญเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วม สวนของเกษตรกรเกิดความเสียหาย ขณะที่ ในปี 2557 เกิดภาวะน้ำแล้ง น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ทุเรียนแห้งเหี่ยวตายเพราะไม่สามารถทนความเค็มได้เกิน 0.02 ppm และยังส่งผลต่อดินทำมให้ดินเค็ม แข็ง ผลผลิตคุณภาพลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด

ฟื้นฟูสวน จากวิกฤติน้ำท่วม

“สวนยกร่อง” เป็นระบบที่ฟื้นฟูสวนทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่มีความโดดเด่นของเมืองนนท์ให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศสวนยกร่องรับมือภัยพิบัติ โดย มูลินิธิชีววิถี ยกหนึ่งในตัวอย่าง สวนของ “หนึ่งฤทัย สังข์รุ่ง” ความตั้งใจมั่นว่าจะอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนเอาไว้ให้มากที่สุด ดังที่เคยมีก่อนน้ำท่วมปี 2554

โดยได้ทำการตัดยอดไปเสียบ อนุบาลต้นกล้าหน่ออ่อนที่จันทบุรีช่วงเกิดน้ำท่วม และนำกลับมาปลูกใหม่ พื้นที่สวนมีเพียง 1 ไร่ 2 งาน ถือว่าขนัดเล็กสุด แต่จากการสำรวจกลับพบต้นไม้ถึง 193 ต้น โดยเฉพาะทุเรียนมี 51 ต้น 11 สายพันธุ์นับว่ามากที่สุดในกลุ่ม ตัวอย่างในสวนยังพบต้นทุเรียนพันธุ์กบทองคำซึ่งได้รับเมล็ดพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เมื่อปี 2556

สวนจิงเลน รับมือวิกฤติน้ำ

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ สวนของอุทิศ ย่ำเที่ยง ซึ่งมีพื้นที่สวนเป็น สวนจิงเลน จึงได้รับผลกระทบทั้งน้ำท่วมและน้ำ เค็มหลายครั้ง นับได้เกือบ 7-8 ครั้ง ในช่วงชีวิตของอุทิศ น้ำมาทุก 4-5 ปี ทุกครั้งก็จะเสริมคันดินโดยรอบสวน จึงขุดดินจากข้างบ้านซึ่งอยู่ใกล้สวน เพียง 25 เมตร นำมาเสริมคันดินให้สูงขึ้นกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมครั้งก่อนจนเกิดบ่อน้ำที่กักเก็บน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับสวนไปเลย

พื้นที่สวนมีขนาด 4 ไร่ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก บ่อน้ำสำรองขนาด 25x20x3 เมตร เก็บกักน้ำฝน ได้ปริมาณ 1,250 ลูกบาศก์เมตร และดินที่ขุดมาเพิ่มระดับคันดิน จนสูงถึง 3.24 เมตร และร่องน้ำในสวน ยังสามารถจุน้ำได้ 190 ลูกบาศก็เมตร ต่อ 2 ไร่ จากปัญหาน้ำเค็ม น้ำเสียจึงได้ปิดท่อตาลสนิท

ร่องน้ำในสวน ใช้รองรับน้ำฝนเท่านั้น หากบางปีที่ฝนตกมาก น้ำในท้องร่องสูงเกินระดับที่เหมาะสมก็จะใช้เครื่องสูบน้ำสูบออกมาเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งน้ำในร่องสวนเริ่มแห้งก็จะสูบน้ำจากบ่อมาเติมในร่องสวนจนถึงระดับที่เหมาะสม

ข้อเด่นของสวนยกร่อง

1) เป็นการจัดการระบบน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอด โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนในการรดน้ำ

2) ประหยัดแรงงานในการขนย้ายพืชผล โดยการใช้เรือพายไปตามท้องร่อง

3) น้ำในท้องร่องอุดมไปด้วย พืชน้ำ สัตว์น้ำ ใช้บริโภคได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย

4) ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพืช จากการปลูกพืชที่ผสมผสาน

5) การปลูกพืชผสมผสานทำให้ฤดูเก็บเกี่ยวของพืชผลนั้นต่างกัน ทำให้ผลิตพืชผลใช้กินหรือนำไปขายได้ตลอด

6) ประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับปุ๋ย เพราะมีดินเลนและตะกอนดินจากธรรมชาติใช้หมุนเวียนเป็นปุ๋ยแทนได้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1123677