กรมประมงประกาศ “ฤดูน้ำแดง 2567” เริ่ม 16 พ.ค. นี้ เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืด ในฤดูวางไข่ สร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศ พร้อมกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไข ฝ่าฝืนโทษปรับ 5,000 – 50,000 หรือ 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำจืดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2507 และปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดในช่วงมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่น้ำฝนมีปริมาณมากส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีแดงจากการชะล้างหน้าดิน พัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำจืด มีการผสมพันธุ์ และวางไข่ กรมประมงจึงกำหนดพื้นที่ และระยะเวลาในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงให้สอดคล้องกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ปริมาณน้ำท่า และข้อมูลด้านการประมงที่เป็นปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการติดตามประเมินผลการใช้มาตรการอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อประกอบการพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันของทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการเปิดโอกาสให้ระบบนิเวศ ได้มีการฟื้นฟู สามารถบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำจืดให้สามารถวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน เจริญเติบโตเป็นผลผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวประมง และประชาชนต่อไป
สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการออกประกาศฉบับใหม่โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสามารถออกประกาศกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี (ปี 2566 – 2567) ซึ่งจากการติดตามและประเมินผลสำเร็จจากการออกประกาศในภาพรวมของทั้งประเทศ พบว่า
มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 81.2 โดยรวบรวมตัวอย่างปลาทั้งหมด 168 ชนิด ในพื้นที่ 20 ลุ่มน้ำ 40 จังหวัด 61 แหล่งน้ำ พบว่าภาพรวมของทั้งประเทศปลาส่วนใหญ่จะวางไข่ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยกลุ่มปลาตะเพียนจะมีฤดูวางไข่ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคม ส่วนกลุ่มปลาหนังส่วนใหญ่มีช่วงฤดูวางไข่ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการฯ ที่ใช้มีความสอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมทั้งพื้นที่ ช่วงเวลา และเครื่องมือประมงที่มีการประกาศใช้
ประกอบกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญจะอ่อนลง และเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จากนั้นจะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดปลายเดือนตุลาคม 2567 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ และใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ นั่นหมายถึงว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง
ดังนั้น กรมประมงจึงยังคงกำหนดพื้นที่ และระยะเวลา รวมถึงเครื่องมือที่ให้ใช้เป็นไปตามมาตรการเดิม ซึ่งแบ่งพื้นที่ และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำเขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินที่ถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชนในช่วงฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ ตามห้วงเวลา และพื้นที่ ดังต่อไปนี้
· ระยะที่ 1 : วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแผนที่ท้ายประกาศ
· ระยะที่ 2 : 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เว้นแต่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตาม ระยะที่ 1
· ระยะที่ 3 : วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาเดินเรียงหน้าพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป
3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
ในกรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยห้ามทำ การประมงที่ใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด ตามวรรคหนึ่ง 1 – 5 ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนั้นด้วย
สำหรับการทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง และสำหรับการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมงหรือภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง อนึ่ง หากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดออกประกาศกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือปฏิบัติตามประกาศฉบับนั้น
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับ ตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
” ขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมง และประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ด้วยการใช้เครื่องมือ และวิธีการทำประมงที่ไม่เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำจืด เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศมีการฟื้นตัว และสามารถแพร่ขยายพันธุ์คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ประมงอำเภอ และหน่วยงานกรมประมงทุกแห่งทั่วประเทศ”