ค้นหา

ฝนมา ส้มแตกใบอ่อน เกษตรกรต้องระวังหนอนชอนใบส้มเข้าทำลาย

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 206 ครั้ง

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม เตรียมเฝ้าระวังหนอนชอนใบส้ม ก่อนสร้างความเสียหายให้กับผลส้มในสวน ไม่มั่นใจสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ-จังหวัด พร้อมช่วยดูแล

กรมส่งเสริมการเกษตรออกเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม เตรียมเฝ้าระวังหนอนชอนใบส้ม ก่อนสร้างความเสียหายให้กับผลส้มในสวน ไม่มั่นใจสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด พร้อมช่วยดูแล  หนอนชอนใบส้ม มักสร้างความเสียหายในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน ซึ่งส้มจะอยู่ในช่วงระยะแตกใบอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ลำตัวสีนวล ปีกสีขาวเหลือบเงิน ปีกหน้าเล็กเรียว ขอบปีกใกล้ปลายปีกมีขนเป็นครุยยาว มีจุดสีดำข้างละจุด ปลายปีกมีแถบขวางมีสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หลังเล็กเรียวมีขนเป็นครุยยาวล้อมรอบ ท้องสีขาวเงิน เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ด้านใต้ใบใกล้เส้นกลางใบส้ม โดยสามารถวางไข่ได้ประมาณ 50 ฟอง

เมื่อหนอนชอนใบส้มฟักออกจากไข่ ใช้ปากซึ่งมีเขี้ยวลักษณะคล้ายใบมีดเจาะชอนไชเข้าไปใต้ผิวใบทันที ทำลายตัดเนื้อเยื่อด้านใต้ใบมากกว่าบนใบ กัดกินน้ำเลี้ยงไปเรื่อยๆ รอยทำลายสังเกตได้ง่ายตั้งแต่เริ่มทำลาย โดยเห็นเป็นเส้นทางสีขาวเรียวยาวในระยะเริ่มแรก และขยายใหญ่ขึ้นเป็นทางคดเคี้ยวไปมา ใบมีลักษณะบิดงอลงทางด้านที่มีหนอนทำลาย นอกจากทำลายใบแล้ว ถ้ามีการระบาดมาก หนอนจะเข้าทำลายกิ่งอ่อนและผลอ่อนด้วย มีผลทำให้ส้มต้นเล็กชะงักการเจริญเติบโตได้ รอยแผลที่เกิดจากการทำลายจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์เข้าทำลาย ทำให้เกิดโรคแคงเกอร์รุนแรงขึ้น

สำหรับการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพคือ การหมั่นสำรวจแปลงให้เป็นประจำ สม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงส้มอยู่ในระยะแตกใบอ่อน หากยอดอ่อนถูกทำลายเกินกว่า 50% ของยอดที่สุ่มสำรวจทั้งหมด ให้พ่นสารฆ่าแมลง เช่น ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 5 กรัม หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 5 กรัม หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 2 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ และถ้าสำรวจพบว่ายังมีการระบาดให้พ่นซ้ำได้

ส่วนใบอ่อนที่พบหนอนชอนใบส้มลงทำลายมากควรเก็บทำลายทิ้ง เพื่อลดปริมาณหนอนชอนใบส้มตกค้างในแปลง นอกจากนี้ หากเกษตรกรบังคับยอดให้แตกพร้อมกัน จะสามารถควบคุมประชากรของหนอนชอนใบส้มได้ดีขึ้น ทั้งสะดวกในการดูแลรักษา และช่วยลดจำนวนครั้งในการใช้สารเคมีในการแตกยอดแต่ละรุ่น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติอีกด้วย หากเกษตรกรมีข้อสอบถามเพิ่มเติม สามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/3451704/