ค้นหา

ส.ป.ก.มุ่งพัฒนาที่ดินพระราชทานในเขตปฏิรูปที่ดิน สู่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร “บ้านศาลาดิน”

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เข้าชม 156 ครั้ง

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดย ส.ป.ก.นครปฐม ได้มีการลงสำรวจพื้นที่บ้านศาลาดิน ชุมชนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนที่ตั้งอยู่บนที่ดินพระราชทานในเขตปฏิรูปที่ดิน และได้ทำ Swot  เกี่ยวกับผลผลิตในชุมชนเพื่อนำมาพัฒนาและแปรรูปให้เกิดเป็นจุดขายของชุมชน โดยนำจุดเด่นและเอกลักษณ์เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรให้กับชุมชน ซึ่งมีจุดเด่นเป็นการเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ เพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเลียบคลองมหาสวัสดิ์

นายวันชัย สวัสดิ์แดง ผู้แทนในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครปฐม  และเป็นเกษตรกรในพื้นที่บ้านศาลาดิน ชุมชนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ กล่าวว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ  ส.ป.ก. จะลงพื้นที่เข้ามาสอบถามถึงสาเหตุของปัญหาก่อน หลังจากนั้นก็จะมีการสำรวจพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่น ก่อนที่จะมีการพัฒนาเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชุมชนมักจะพบเจอกับปัญหา เนื่องจากการแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล เป็นเรื่องที่ทำการตลาดได้ยากมาก ส.ป.ก. จึงได้ลงพื้นที่แล้วจัดทำ Swot  ว่าที่บ้านศาลาดิน ชุมชนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ มีวัตถุดิบอะไรบ้าง ที่จะไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้และเป็นเอกลักษณ์ให้กับชุมชน

และพบว่าที่บ้านศาลาดิน มีนาข้าวอยู่เยอะจึงได้ทำผลผลิตจากข้าวบางส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายมาแปรรูปจนเกิดเป็นข้าวตังบ้านศาลาดิน ซึ่งสามารถแปรรูปได้ตลอดเวลา เนื่องจากข้าวถือเป็นธัญพืชที่เป็นอาหารหลักของประชาชนทั้งประเทศ ถือเป็นหัวใจของประชาชนคนไทยเลยก็ว่าได้ จึงสามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี นอกจากการชูสินค้าทางการเกษตร ส.ป.ก. ยังชูเรื่องของการท่องเที่ยวทางการเกษตรในบ้านศาลาดิน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนพื้นดินพระราชทานในเขตปฏิรูป

ทั้งนี้การสนับสนุนของ ส.ป.ก.ทำให้เกษตรกรมีความหลากหลายด้านกิจกรรมทางการเกษตร ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่, โครงการการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน, โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.), โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน,โครงการวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินและโครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนทำให้ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น เรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ทางชุมชนยังได้ร่วมกันสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบปลอดภัย ลดใช้สารเคมีปรับการทำการเกษตรตามนโยบาย BCG (BCG Economy)  หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้การเกษตรไปเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ ทำให้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของชุมชนมีการพัฒนาได้อย่างสมดุลและเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/538796