เมื่อวันที่ 27 พ.ค.67 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน KU Digital and AI Platform for Agriculture, Food, Biodiversity and Natural Resources โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 nontriai.ku.ac.th/ ณ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน KU Digital and AI Platform for Agriculture, Food, Biodiversity and Natural Resources โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการ ภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และ รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ กล่าวรายงาน
โครงการยกระดับระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร ฯ เป็นโครงสร้างพื้นฐาน National Al for Agriculture Food & Biodiversity (AI Agri-Food-(Biodiverse) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเกษตร อาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และทำนายผลที่อาจเกิดขึ้น เพื่อต่อยอดสู่ภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรมชั้นสูงอย่างเต็มรูปแบบ ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คุ้มค่า อีกทั้งเครือข่ายกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินงานวิจัยแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary)
โครงการนี้ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มาตั้งแต่ปี 2564 โดยได้เงินทุนสนับสนุนโครงการ 62 ล้านบาท มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางการจัดการ AI ด้านการเกษตร มีงานวิจัยที่ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อผลักดันสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) สร้างกระบวนการและประยุกต์ใช้งานเพื่อตอบโจทย์งานวิจัย ต่อยอดอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์และวางรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว BCG Economy มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG (เกษตรและอาหาร การแพทย์สุขภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงานและวัสดุ ชีวภาพ) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับบีซีจีด้านเทคโนโลยีสุขภาพแพทย์และเกษตรอาหาร
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากวิกฤติภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ทำให้ผลผลิตของพืช สัตว์ และจุลชีพทางการเกษตรมีผลผลิตตกต่ำและขาดความต้านทานต่อโรค การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ การวิจัย การเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ผลักดันขับเคลื่อนจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้สูงขึ้น
ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ บพข. ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับจุดเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ดำเนินงานวิจัยแบบสหสาชาวิชาโดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยมีความภูมิใจและยินดีร่วมผลักดันโครงการฯ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางด้านการจัดการ AI ทางด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการของประเทศต่อไป
รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสนับสนุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การบริหารจัดการ หรือ Operation Cost การจัดการด้านทุนวิจัย เพื่อผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้งานเพื่อตอบโจทย์งานวิจัย โดยมีเป้าหมายเกิดการใช้งานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และต้องการความร่วมมือจากนักวิจัยเพื่อผลักดันโครงการอีกเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งไม่เพียงวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการคาดการณ์และวางแผน การใช้ AI ในการพยากรณ์และการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางเกษตร เช่น การคาดการณ์สภาพอากาศ การเรียนรู้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ของผลผลิตและการเจริญเติบโตของพืช เพื่อช่วยตัดสินใจการจัดการแปลงนาและการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสนับสนุนโครงการจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันงานด้านการเกษตร และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเสริมสร้างการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างประสิทธิภาพ เพื่อเอาชนะความท้าทายที่เราเผชิญในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษเรื่อง KU Digital and AI Platform for Agriculture Natural Resources เพื่อประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ มีความสำคัญสรุปได้ดังนี้
ชีวิตของคนเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นโดยใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งก็เป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเอไอ เช่น ใช้ค้นหาชื่อดอกไม้รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เราจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้ ก็ต้องมีการใส่ข้อมูล Input เข้าไปและก็ต้องฝึกเทรนด้วย มีความคล้ายกับการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักแบ่งแยกประเภทหรือจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่าง ๆ
เราสามารถใช้ AI มาตอบโจทย์ภาคการเกษตร อาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินเสื่อมโทรม สูญเสียความหลากหลายชีวภาพ โรคระบาดของพืชและสัตว์ การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เท่าเทียม ความยากจน เป็นต้น มหาวิทยาลัยต้องเล่นกับข้อมูลมหาศาลอย่างรวดเร็ว เราต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีระบบการจัดเก็บ ใช้ AI มาประมวลผลและนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดฐานการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“AI ไม่น่า Disrupt คนปลูกผักได้ แต่คนปลูกผักที่ใช้ AIจะ Disrupt คนปลูกผักที่ไม่ใช้”
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. บรรยายเรื่อง การสนับสนุน “โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. บริหารจัดการทุนและความร่วมมือเพื่อให้ประเทศมีความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยขับเคลื่อน IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพราะเราตระหนักว่านวัตกรรมมีความสำคัญยิ่งและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล เราจึงต้องใช้แพลตฟอร์มการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีความแม่นยำ เป็นธุรกิจการเกษตรที่ Smart และ Sustainable เราต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศ ถ้าคุณทำได้หรือคุณชนะ ประเทศก็จะชนะด้วย
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข.
กล่าวว่าเนื่องจากดิจิทัลมาดิสรัปทุกสิ่งและประเทศไทยเราก็บริโภคเทคโนโลยีอย่างมาก ฉะนั้นต้องหาทางทำให้เทคโนโลยีเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเทศของเราด้วย เพราะข้อมูลมีมูลค่ามหาศาล เราต้องมาช่วยพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน มาร่วมกันขับเคลื่อน IGNITE THAILAND ไม่ปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานอยู่นิ่งเฉย ต้องนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ใช้ AI แก้ปัญหาต่าง ๆ
ในงานสัมมนาภาคบ่าย มีกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างการใช้ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 5 กรณีศึกษา ได้แก่
กรณีศึกษา I : การออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรณีศึกษา
กรณีศึกษา II : การศึกษาจีโนมพืช เพื่อวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม วิวัฒนาการ และปรับปรุงสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ โดย ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กรณีศึกษา III : การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์เพื่อการปรับปรุงพันธุกรรมและการผลิตในปศุสัตว์ : เส้นทางสู่การเกษตรที่ยั่งยืนในเศรษฐกิจ BCG โดย รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรณีศึกษา IV : การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเกษตรภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูล กรณีศึกษาในโรคพืช โดย รศ.ดร. ธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรณีศึกษา V : ไมโครไบโอมพืชเพื่อช่วยการเกษตรและความท้าทายของปัญญาประดิษฐ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้สนใจสามารถรับชมกรณีศึกษาดังกล่าวได้ที่ Nontri Live https://live.ku.ac.th/?p=9888 และสามารถเข้าไปศึกษาและทดลองใช้งานศูนย์กลางการจัดการ AI ด้านการเกษตรฯ ได้ที่ nontriai.ku.ac.th/ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จกลายเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการ AI ทางด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการของประเทศอย่างแท้จริง