ค้นหา

“ปลิงทะเลขาว” สัตว์น้ำเศรษฐกิจ สร้างรายได้ โปรตีนสูง

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน),กรมประมง,นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
เข้าชม 205 ครั้ง
  • ปลิงทะเลขาว จัดเป็นหนึ่งในชนิดของปลิงทะเลที่พบเจอได้บนหน้าดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเลเขตร้อนทั่วไปทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
  • ในประเทศไทยพบได้มากในแนวหญ้าทะเลชายฝั่งทะเลอันดามัน (พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)
  • ถือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเนื่องจาก ชาวเอเชียในประเทศ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ในสมัยอดีตมีความเชื่อกันว่าเมื่อรับประทานปลิงทะเลแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นยาอายุวัฒนะ

ปลิงทะเล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทะเลที่สะอาด ดังนั้น ปลิงทะเลจึงนับได้ไว้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำ และยังเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ช่วยรักษาความสมดุลในท้องทะเล และเป็นเทศบาลในท้องทะเลที่สำคัญในการหมุนเวียนของระบบนิเวศในทะเล

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ระบุว่า เนื่องจากปลิงทะเลนั้นจะกินซากพืชหรือซากสัตว์ ตะกอนดิน แพลงก์ตอนที่ตายแล้วที่ทับถมกันบนทราย ช่วยย่อยอินทรีย์สารให้มีขนาดเล็กลงและปลดปล่อยสารอาหารที่มีขนาดเล็กให้สัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าและจุลินทรีย์ต่าง ๆ ด้วยสารที่ขับออกมาจากอยู่ในรูปแบบของแอมโมเนีย ซึ่งแพลงก์ตอนนั้นสามารถนำไปใช้ได้

ที่ผ่านมา มีการนำปลิงทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภค เพราะปลิงทะเลจัดเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงนิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม ซึ่งในประเทศมีการจับปลิงทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นเหตุให้ปลิงทะเลถูกจับขึ้นมาจำนวนมากแทบจะเกิดทดแทนไม่ทัน

ด้วยเหตุนี้ กรมประมง จึงมุ่งที่จะผลักดันให้ปลิงทะเลเป็นสัตว์ เศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้เคยมีการศึกษาการเพาะพันธุ์ปลิงทะเล ชนิด H.scabra จนสำเร็จในปี 2551 และต่อมา มีการศึกษาพัฒนาเทคนิคการอนุบาลลูกปลิงทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการรอด และเพิ่มผลผลิตเพื่อนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและทดลองเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่

ปลิงทะเลขาว ทำไมจึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

ปลิงทะเลขาว หรือที่บางท้องถิ่นเรียกกันว่า ปลิงทะเลสีเทา หรือปลิงเทา จัดเป็นหนึ่งในชนิดของปลิงทะเลที่พบเจอได้บนหน้าดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเลเขตร้อนทั่วไปทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยพบได้มากในแนวหญ้าทะเลชายฝั่งทะเลอันดามัน (พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)

ชาวเอเชียในประเทศ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ในสมัยอดีตมีความเชื่อกันว่าเมื่อรับประทานปลิงทะเลแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นยาอายุวัฒนะ นอกจากนี้ยังนำไปทำเป็นส่วนหนึ่งของรักษาโรค จนในปัจจุบันมีการวิจัยและได้ค้นพบว่า ปลิงทะเลอุดมไปด้วยโปรตีนสูงและมีกรดมิวโคโพลีแซคคาไรด์ (Mucopolysaccharide acid) ไตรเทอพีน ไกลโคลไซด์ (Triterpene glycosides) และโฮโลโทนิน (Holotonin) ที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย และยังมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดเนื้องอก (Anti-tumor)

เป็นสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของเลือด (Blood coagulation agent) เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อราและเนื้องอก จึงมีความต้องการบริโภคในปริมาณที่มาก และเริ่มมีการจับปลิงทะเล เพื่อนำไปบริโภคและจำหน่ายโดยไม่มีการควบคุมปริมาณการจับ ส่งผลให้ปลิงทะเลในธรรมชาติหลายชนิดมีปริมาณที่ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะปลิงทะเลขาวที่เริ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการประมง พัฒนาการเพาะเลี้ยง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของปลิงทะเลขาวต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ

ปลิงทะเลขาว กลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ โดยราคาขายปลิงทะเลสดจากชาวประมง ถ้าเป็นแบบสดจะขายอยู่ที่ ราคา 300 – 500 บาท/กิโลกรัม ส่วนแบบตากแห้ง ราคาจะยิ่งสูงขึ้นไปถึง 3,000 – 7,000 บาท/กิโลกรัม นิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เป็นต้น

ประโยชน์ของปลิงทะเลขาว

1. ประโยชน์ทางโภชนาการ

เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ปลิงขาวมีปริมาณโปรตีนสูง ประมาณ 15-30% ของน้ำหนักแห้ง มีกรดอะมิโนจำเป็นเป็นหลายชนิด เช่น ไกลซีน โปรลีน และอาร์จินีน เป็นต้น เป็นแหล่งแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น ทั้งนี้ ยังเป็นแหล่งวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน A วิตามิน B1 วิตามิน B2 และวิตามิน เป็นต้น อีกด้วย

2. ประโยชน์ทางยา

ช่วยบำรุงผิวพรรณ ปลิงขาวมีคอลลาเจนช่วยบำรุงผิวพรรณ ชะลอวัย และลดริ้วรอยได้ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันเนื่องจากปลิงขาวมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และยังช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

การเลี้ยงปลิงทะเลขาว

สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง และสถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี อธิบายถึง การเลือกสถานที่สำหรับการเลี้ยงปลิงทะเลขาว ว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญ มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

1. เป็นแหล่งที่มีพันธุ์ปลิงทะเลขาวตามธรรมชาติ

2. เป็นแหล่งน้ำเค็มที่สะอาดที่มีการไหลเวียนของแหล่งน้ำ

3. เป็นแหล่งที่มีกระแสน้ำและคลื่นลมไม่แรงมากนัก

4. แหล่งเลี้ยงควรอยู่ชายฝั่ง ระดับความลึกประมาณ 4 เมตร

รู้จัก ปลิงทะเลขาว

1. ปลิงทะเลขาวมีอายุขัยประมาณ 5 – 10 ปี โดยประมาณ

2. สามารถฟื้นฟูอวัยวะบางส่วนของร่างกายที่สูญเสียไปจากกการสำลอก

3. มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี

4. การดูส่วนปาก และส่วนทวารของปลิงทะเลขาว ในระยะแรกที่ยังเป็นตัวไม่เต็มวัยจะดูได้ง่ายกว่า หากเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะดูได้ยาก จึงต้องใช้วิธี ดังนี้

  • โดยการดูจากการพ่นน้ำ เมื่อนำปลิงขาวขึ้นมาพ้นจากน้ำ ปลิงขาวจะพ้นน้ำออกทางปาก ซึ่งทำให้ทราบได้ว่าส่วนปาก และส่วนทวาร
  • โดยการดูจากจานหนวดที่อยู่ล้อมรอบบริเวณปากของปลิงขาว ต้องจับปลิงขาวหงายขึ้นเพื่อดูจานหนวด ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ว่าส่วนไหนคือส่วนปาก และส่วนทวาร
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1129557