ระวังเกษตรกรระวัง หนอนใยผัก ในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม
เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) ในระยะ ทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือหนอนใยผัก ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มเล็ก ๆ ทั้งบนใบและใต้ใบพืช หนอนมีลักษณะเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรง และสร้างใยพาตัวขึ้นลงระหว่างพื้นดินกับใบพืชได้ หนอนจะกัดกินผิวใบทำให้ผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห จากนั้นเข้าดักแด้บริเวณใบพืช โดยมีใยบาง ๆ ปกคลุมติดใบพืช
แนวทางป้องกันและแก้ไข
1.การใช้กับดักชนิดต่าง ๆ
– กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องสีเหลืองทาด้วยกาวเหนียว ทุก 7-10 วันครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
– กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสงที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่
2.การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักและหนอนผีเสื้ออื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โรงเรือนตาข่ายไนลอนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่
3.การใช้สารชีวภัณฑ์
– การใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส ปกติในธรรมชาติจะพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผัก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้หนอนใยผักตาย จึงมีการผลิตเชื้อแบคทีเรียในรูปการค้าออกจำหน่ายที่สำคัญมี 2 สายพันธุ์ คือ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai และ Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki อัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้ในแหล่งปลูกผักภาคกลาง ในช่วงที่มีการระบาดมากพิจารณาการใช้อัตราสูง และช่วงเวลาพ่นถี่ขึ้น หรือพ่นสลับสารฆ่าแมลง)
4.การใช้วิธีทางเขตกรรม สามารถช่วยลดการระบาดของหนอนใยผักได้ เช่น การไถพรวนดินตากแดด หรือการทำลายซากพืชอาหาร หรือการปลูกพืชหมุนเวียน ทั้งนี้เพื่อขัดขวางการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของหนอนใยผัก
5.การใช้สารฆ่าแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว และหลายชนิด การพิจารณาเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก เช่น สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (พ่นเมื่อพบการระบาดของหนอนใยผักทุก 5 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง ควรสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ทุก 14 วัน)