สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพริก ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรครากเน่าและโคนเน่า (เชื้อรา Sclerotium rolfsii) พริกแสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็ว บางครั้งพบใบที่อยู่ด้านล่างเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หากอาการรุนแรงพริกจะยืนต้นตาย บริเวณโคนต้นพบเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรค มีลักษณะหยาบสีขาว ต่อมาเส้นใยของเชื้อจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ คล้ายเมล็ดผักกาด จึงมักเรียกว่า ราเม็ดผักกาด โรคนี้พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
- ควรไถพลิกดินตากแดด เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในดิน เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน
- ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ ก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน
- แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี
- ควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม และทำค้างหรือขึงเชือกช่วยเมื่อต้นพริกล้มหรือกิ่งปรกดิน เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ให้มีความชื้นสูง เป็นการลดการระบาดของโรค
- หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรค ให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณที่พบ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียง ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์บอกซิน 75% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอส-เมทิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล 24% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยรดสารทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อสาเหตุโรคแพร่ไปยังต้นข้างเคียง
- หลังจากเก็บเกี่ยวพริกแต่ละรุ่น ควรกำจัดเศษซากพืชและวัชพืชในแปลงให้หมด เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
- ควรทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค