“ต้นขลู่” เป็นไม้พุ่มที่อยู่ในวงศ์ Asteraceae สามารถพบได้ทั่วไปในบริเวณที่ชื้นแฉะของประเทศแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทย พบในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน มีชื่อเรียกแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น ภาคกลางเรียก “ขลู่” จังหวัดอุดรธานี เรียกว่า “หนวดงัว” สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดกิ่งปักชำ
สมุนไพรใบขลู่ มีสารพฤกษเคมีมากมายหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ สามารถลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ในตำราแพทย์แผนไทยนำใบขลู่มาใช้รักษาอาการขัดเบา นำมาอาบเพื่อดับกลิ่นตัว ปัจจุบัน มีการนำใบขลู่มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของชา เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขับปัสสาวะ
“ชาใบขลู่” สร้างอาชีพ
วิสาหกิจชุมชนลุงแกละชาใบขลู่ บ้านตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ได้นำต้นขลู่ ซึ่งเป็นวัชพืชที่งอกงามอยู่ใกล้กับป่าชายเลนมาจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชาใบขลู่ ที่ขายดีเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ต่อมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครได้นำนวัตกรรมเข้ามายกระดับการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์ใบขลู่อบแห้ง มีคุณภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เป็นรายแรกในประเทศไทย สร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทำให้กลุ่มมียอดขายเพิ่มจากเดิมมากกว่า 10%
โดยกระบวนการวิจัยเริ่มตั้งแต่การล้างทำความสะอาดด้วยวิธีเฉพาะ สามารถกำจัดเชื้อราและยีสต์ ก่อนนำไปผ่านกระบวนการตากแห้งในโดมอบสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นทำการตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิให้กระจายทั่วบริเวณจุดตากใบขลู่ และตรวจวัดอุณหภูมิภายนอกโดม เพื่อป้องกันการไหม้ของใบขลู่ เก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ปริมาณยีสต์ เชื้อรา สารปนเปื้อนต่างๆ ได้แก่ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง จนได้ผลิตภัณฑ์ใบชาที่มีสีสันสวยงาม เมื่อนำไปต้ม มีกลิ่นหอม น้ำชามีสีเหลืองทองน่ารับประทาน สามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานมากกว่า 4 เดือน
ยกระดับพืชสมุนไพร สู่สินค้านวัตกรรม
นอกจากนี้ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาต่อยอด “ใบขลู่” ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง สู่ “แชมพู-ครีมอาบน้ำอนุภาคนาโนขลู่ต้านอนุมูลอิสระ” โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่ชุมชนบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้านวัตกรรมชุมชน
ซึ่งกระบวนการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากใบขลู่ ถูกพัฒนาอยู่ในรูปอนุภาคนาโน (Nano encapsulation) ทำได้ง่าย เพียงต้มวัตถุดิบในอุณหภูมิที่เหมาะสมและนำไปผสมกับองค์ประกอบอื่นๆ ตามสัดส่วนที่กำหนด จากนั้นจึงนำอนุภาคนาโนขลู่ที่ได้มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าแชมพูและครีมอาบน้ำโดยใช้กระบวนการกวน ปัจจุบันสินค้าดังกล่าว กลายเป็นของฝากที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชนบ้านไหนหนัง ที่สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน