สวก.โชว์นวัตกรรมสมุนไพรไทย สกัดสารพอลิแซ็กคาไรด์จาก “เห็ดกระถินพิมาน” มาพัฒนายาแคปซูลต้นแบบ ต้านไขมันในหลอดเลือด ลดอ้วน ต้านสิว เพื่อผิวสวย ต้านกลุ่มโรค NCDs สู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม BCG ด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. (ARDA) กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสมุนไพร เพื่อให้ได้สารสกัดจากเห็ดกระถินพิมาน ที่มีสารสำคัญสูงที่ช่วยลดการสะสมและกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาชีววัตถุหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีสังเคราะห์ โดยโครงการนี้ขับเคลื่อนตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าสูง “ทำน้อย ได้มาก”
ปัจจุบันตลาดสมุนไพรได้รับความนิยม และมีการนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น มูลค่าการบริโภคสมุนไพรของโลกสูงถึง 54,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร 1,483.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งการบริโภคสดและแปรรูปเป็นอาหารอาหารเสริม สมุนไพรยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทยและของโลก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานรายใหม่รอบ 5 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน และโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 2 ล้านคน ดังนั้นการลดอัตราการเกิดโรคกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 10 จะช่วยลดงบประมาณการรักษาลงได้ถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี (อ้างอิง สวรส.,2564)
สำหรับโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานปริมาณมากจากเส้นใยของเห็ดเฟลลินัสที่ได้จากการเพาะเลี้ยง และการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมแคปซูลพิชิตไขมันและเวชสำอางสเปรย์บำรุงผิวหน้าและต้านสิว” เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model (โครงการระยะที่ 3) เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่ ARDA ให้การสนับสนุนทุนวิจัยมา 3 ระยะ ดังนี้
การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 1 (ปี 2563) สามารถศึกษาและเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดทำให้ได้กรรมวิธีการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้จากห้องปฏิบัติการ และผ่านการทดสอบเอกลักษณ์ทางเภสัชเวทว่ามีปริมาณสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient)ในการป้องกันและควบคุมภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นรายแรกของประเทศไทย มีปริมาณพอลิแซ็กคาไรด์และเบตา-กลูแคนและความหลากชนิดของมอโนแซ็กคาไรด์สูงกว่าที่พบในดอกเห็ดธรรมชาติ นอกจากนี้ยังผ่านโดยการทดสอบแล้วว่าไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ร่างกาย มีฤทธิ์ต้านการสะสมหยดไขมันภายในเซลล์ไขมัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ
การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 2 (ปี 2565) เป็นการวิจัยการประเมินผลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์จากโครงการที่ 1 ในการยับยั้งการสะสมลิพิดในเซลล์ไลน์ไขมันและในหนูแรตที่มีภาวะอ้วนและไขมันในเลือดสูง กลูโคสในเลือดสูง และไขมันสะสมตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังการได้รับอาหารที่พัฒนาขึ้น และใช้เทคนิคจีโนมิกส์และเทคนิคอนุพันธุศาสตร์ในตับ สมัยใหม่พบว่า สามารถออกฤทธิ์ต้านการสร้างอาหารไขมันสูง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันการสร้างและสะสมไขมันในเซลล์ร่างกาย และป้องกันการเกิดไขมันพอกตับ ลดการอักเสบของตับเนื่องจากมีไขมันพอกตับสูง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อต่อยอดเป็นยาชีววัตถุและจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางบำรุงผิวหน้า
การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 3 (ปี 2567) พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลต้านไขมันและสเปรย์บำรุงผิวหน้าและต้านสิวอักเสบ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานสากลในปริมาณมากจากเห็ดเฟลลินัส พร้อมควบคุมคุณภาพ และศึกษาความคงตัวของยาแคปซูลตามเกณฑ์เภสัชตำรับเพื่อต่อยอดเส้นใยเพาะเลี้ยงและพัฒนานวัตกรรมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปต่อยอดการทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 4 โดยจะนำต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลและสเปรย์บำรุงผิวหน้าไปทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางคลินิกในอาสาสมัครสำหรับต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2569
ด้าน นางสาวพนิดา เล้าชาญวุฒิ หัวหน้าคณะวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการที่ทีมผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์ นักวิจัย และผู้ป่วย พบว่าอยากให้นักวิจัยไทยร่วมกันวิจัยผลิตชีววัตถุจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันรักษาโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงจากเห็ดสกุลเฟลลินัสเพราะเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฐานะยาสมุนไพร การวิจัยในครั้งนี้หัวใจหลักจะอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการเพาะเลี้ยง และสกัดสารสำคัญให้ได้ปริมาณมากกว่าดอกเห็ดในธรรมชาติ และได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างเป็นเกษตรมูลค่าสูง สำหรับเจาะตลาดเห็ดสุขภาพเชิงพาณิชย์
หัวหน้าคณะวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีงานวิจัยที่ศึกษาสภาวะและปัจจัยในกระบวนการเพาะเลี้ยงเส้นใยของเห็ดเฟลลินัสในปริมาณมาก และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้มาก่อน เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และวัสดุและสารเคมีที่มีราคาสูง ต้องขอขอบคุณ ARDA ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมั่นใจว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมวงการสมุนไพรอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางคณะวิจัยยังมีแผนจะนำเส้นใยเห็ดที่ได้จากห้องปฏิบัติการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และช่วยเพิ่มปริมาณเห็ดในธรรมชาติ.