ค้นหา

เกษตรกรปลื้ม รวมกลุ่มแปลงใหญ่ชะอมโพธิ์รังนก สู่ผลผลิต มาตรฐาน GAP

สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง
เข้าชม 88 ครั้ง

สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง ติวเข้ม แปลงใหญ่ชะอมโพธิ์รังนก อ่างทอง เริ่มจากการปรับปรุงบำรุงดิน วิธีการปลูก จนสามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตและเพิ่มรายได้ เป็นแหล่งผลิตชะอมมาตรฐาน GAP ส่งขายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 นายพยุง คุ้มสกุลณี ประธานแปลงใหญ่ชะอมตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า การผลิตชะอมของตำบลโพธิ์รังนก เริ่มมีการผลิตในหมู่บ้านมานานกว่า 30 ปี โดยเป็นพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมที่มีลักษณะต้นสูงและเลื้อยขึ้นไปตามยอดไม้ เมื่อเริ่มปลูกเป็นการค้า จึงมีการพัฒนานำท่อนพันธุ์มาปลูกในแปลง ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มผลิตชะอมโพธิ์รังนกได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ เมื่อปี 2564 มีสมาชิก 71 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มกันในการจำหน่ายผลผลิตชะอม ช่วยเหลือเงินทุนในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต 

“ปัจจุบันแปลงใหญ่ฯ มีเงินกองทุนเพื่อจัดซื้อสารเคมีและปุ๋ยมาจำหน่ายให้สมาชิก และมีการผลิตปุ๋ยใช้เองตามความต้องการของพืช เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทองและสำนักงานเกษตรจังหวัดเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำ องค์ความรู้ในการผลิตชะอมคุณภาพและให้ผลผลิตสูง และการกระตุ้นให้ชะอมแตกยอดในฤดูหนาว เช่น การตัดแต่งกิ่งหรือรูดใบออก การให้อาหารบำรุงการออกยอด เป็นต้น ตลอดจนให้คำแนะนำการผลิตที่ได้มาตรฐาน GAP”

ประธานแปลงใหญ่ชะอมตำบลโพธิ์รังนก กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตจำหน่าย ทางกลุ่มจะให้สมาชิกนำชะอมมาจำหน่ายให้แก่แปลงใหญ่บางส่วน บางส่วนจะขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง ซึ่งราคาที่แปลงใหญ่และพ่อค้าคนกลางรับซื้อจะไม่แตกต่างกัน สำหรับผลผลิตที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ซึ่งจะกระจายไปยังตลาดต่างๆ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดศรีเมือง (ราชบุรี) ตลาดท้องถิ่น และมีพ่อค้าคนกลางบางรายรับซื้อแล้วนำชะอมไปคัดเลือกและส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สำหรับผลผลิตที่ทางกลุ่มรับซื้อจากสมาชิก ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณชะอมทั้งหมดในตำบล ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมผลผลิตชะอมในช่วงบ่าย-เย็นของทุกวันและเก็บไว้ในรถห้องเย็น จากนั้นจะนำไปจำหน่ายที่ตลาดไท โดยแปลงใหญ่จะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปจำหน่ายได้ตลอดเวลา 

ซึ่งการจำหน่ายชะอมที่ตลาดไท จะต้องส่งชะอมไปทดสอบสารเคมีทุกวัน สามารถเก็บผลผลิตไปตรวจสอบได้ทุกกำ เพราะมั่นใจคุณภาพผลผลิตชะอมของสมาชิกว่าปลอดภัยจากสารพิษแน่นอน โดยการจำหน่ายชะอมของแปลงใหญ่ตำบลโพธิ์รังนกจะมีบาร์โค้ด (Bar Code) ของกลุ่มติดที่แพ็กของชะอมด้วย สำหรับราคาของชะอมจะผันผวนไปตามฤดูกาลและในแต่ละวัน เฉลี่ยสูงที่สุดจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ต่อมาก็ฤดูฝน และราคาเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงฤดูร้อน จะขายได้ราคาค่อนข้างต่ำราคา 10-12 บาท/แพ็ก ในช่วงฤดูฝนราคาประมาณ 15 บาท/แพ็ก แต่จะขายได้ราคาสูงในช่วงฤดูหนาวประมาณ 25 บาท/แพ็ก


“การรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบแปลงใหญ่ทำให้ราคาผลผลิตของชะอมในตำบลโพธิ์รังนกสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน พ่อค้าคนกลางไม่กล้ากดราคาเกษตรกร เนื่องจากกลุ่มแปลงใหญ่โพธิ์รังนกทราบราคาจำหน่ายผลผลิตชะอมที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อ ซึ่งเป็นตลาดเดียวกันกับที่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อชะอมของเกษตรกร จึงมิกล้ากดราคา ซึ่งในอนาคต กลุ่มมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนแปลงที่ได้รับมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น รวมถึงจะพัฒนาการผลิตให้ต้นทุนการผลิตของสมาชิกให้ลดลงจาก 28,000 บาทต่อไร่ เหลือ 24,000 บาทต่อไร่ และที่สำคัญจะพัฒนาให้ชะอมเป็นพืช GI ภายในปี 2570 เนื่องจากชะอมของตำบลโพธิ์รังนกมีลักษณะเด่นคือ ยอดอวบ หนามแหลมคม ปลายยอดมีหนามนุ่มอ่อน กลิ่นฉุนและแรงกว่าชะอมทั่วไป รสชาติไม่ขมเฝื่อน” นายพยุง กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่การเกษตร 101,844 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาข้าว แต่ยังมีพืชที่เกษตรกรปลูกกันมาก คือ ชะอม มีจำนวนมากถึง 1,683 ไร่ เกษตรกร 643 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลโพธ์รังนก และถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยเสริมรายได้ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวข้าวอีกทางหนึ่งด้วย

แต่ก่อนเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลงในปริมาณมากและใช้ไม่ถูกต้อง ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งมีการกำจัดเศษกิ่งชะอมด้วยการเผา จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง จึงเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการผลิตชะอมที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการปรับปรุงบำรุงดิน วิธีการปลูก การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เมื่อพบการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดการบอกต่อในกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมผลิต ร่วมกันขายและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทองเป็นที่ปรึกษา 

กระทั่งในปี 2564  ได้มีการจัดตังแปลงใหญ่ชะอม มีสมาชิก 71 ราย พื้นที่ปลูก 180 ไร่ มีเป้าหมายคือลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิตและเพิ่มรายได้ ต่อมาในปี 2564 ได้เริ่มนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดไท ในโครงการผักร่วมใจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและตลาดไท โดยทางตลาดไทได้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้า GAP พร้อมสนับสนุนการจัดทำ QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผลผลิตจากแปลงใหญ่ชะอมได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพและยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-product-prices/2803413