ค้นหา

เกษตรกรมีความสุข ปี 66 ดัชนีความผาสุก ขึ้นสูงปรี๊ด 80.79 %

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
เข้าชม 106 ครั้ง

สศก. เผยตัวเลขดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 66 อยู่ที่ระดับ 80.79 พัฒนาในระดับดี ด้านสุขอนามัยและด้านสังคม พัฒนาในระดับดีมาก ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการศึกษา ต้องปรับปรุงแก้ไข

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า สศก. ได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม 

เกษตรกรมีความสุข ปี 66 ดัชนีความผาสุก ขึ้นสูงปรี๊ด 80.79 %

สำหรับ ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2566มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.79 เป็นการพัฒนา อยู่ในระดับดี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46

และเมื่อพิจารณาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคใต้  มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 82.29 รองลงมา ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 81.22ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 80.98 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 80.14  ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี

เกษตรกรมีความสุข ปี 66 ดัชนีความผาสุก ขึ้นสูงปรี๊ด 80.79 %

โดยรายละเอียดในแต่ละด้านมีดังนี้ ด้านสุขอนามัย ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 99.86 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 99.85 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 99.91  รองลงมา คือภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 99.88ภาคใต้อยู่ที่ระดับ 99.82 และภาคกลางอยู่ที่ระดับ 99.65 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนเกษตรที่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนการเป็นเมืองสุขภาพดี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี

รวมทั้งส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) สินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านสังคม ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 92.83 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก เพิ่มขึ้นจาก ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 91.06 โดยภาคเหนือมีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 94.37 รองลงมา คือภาคกลางอยู่ที่ระดับ 93.46ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 92.08 และภาคใต้อยู่ที่ระดับ 91.84 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก

เป็นผลจากการที่สมาชิกในครัวเรือนเกษตรมีการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครัวเรือน ขณะเดียวกันภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ด้านเศรษฐกิจระดับประเทศ  มีค่าดัชนีอยู่ที่ 76.97 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง ลดลงจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 78.26 โดยภาคใต้มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 84.88 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 78.21 และภาคกลางอยู่ที่ระดับ 77.35 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง และภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 67.03 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง

โดยผลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรและแรงงานเกษตร พบว่าการมีสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องจำหน่ายที่ดินทำกินของตนเองบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความเครียด ปัญหาทางด้านรายได้และภาระหนี้สิน

 ด้านสิ่งแวดล้อม ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 62.39 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 62.67 โดยภาคเหนือ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 75.70 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา คือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 62.49 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 58.40 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 55.60 

เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากในปี 2566 มีพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดินลดลงจากปี 2565 ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงมีพื้นที่ป่าได้รับผลกระทบจากไฟป่าเพิ่มขึ้น

ด้านการศึกษา  ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.20 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 50.39 แต่ยังคงอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากหัวหน้าครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 48.42 เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ทำให้การศึกษาของเกษตรกรในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ

โดยภาคใต้ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 59.07 รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.57ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 52.31 และภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 47.51 ซึ่งค่าดัชนีของทุกภาคสะท้อนถึงการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

เกษตรกรมีความสุข ปี 66 ดัชนีความผาสุก ขึ้นสูงปรี๊ด 80.79 %

ด้าน นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.79 เปรียบเทียบกับค่าดัชนีในช่วงปีสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ โดยเริ่มจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) ในปี 2554 มีค่าอยู่ที่ระดับ 76.97 แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ในปี 2559 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.51 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ในปี 2565 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46 พบว่า

ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากการพัฒนาในด้านสุขอนามัยและด้านสังคมเป็นหลัก ส่วนด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ มีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

 ด้านการศึกษา  ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะแก่เกษตรกรสูงวัยในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจัดรูปแบบให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมทางการเกษตรแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประสบการณ์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างเกษตรกรสูงวัยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และควรส่งเสริมให้สมาชิกของครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาสูงขึ้น เพื่อยกระดับการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ด้านสิ่งแวดล้อม ควรส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้เกษตรกรดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ การทำวนเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste) งดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรในทุกภูมิภาคปรับปรุงบํารุงดินในพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง และเพาะปลูกพืชตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

ด้านเศรษฐกิจ ควรพัฒนาและส่งเสริมให้ครัวเรือนเกษตรยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ควรจัดสรรที่ดินทำกินให้กับครัวเรือนเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำบัญชีครัวเรือนตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถประเมินสถานภาพทางการเงินของตนเองได้ดีขึ้นทั้งด้านรายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน และต้นทุนการผลิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1137490