กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาพันธุ์หมูดำกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ได้หมูที่มีเอกลักษณ์สีดำ ให้เนื้อคุณภาพสูง มีความนุ่ม และรสชาติอร่อย โดยพัฒนาจากพันธุ์สุกร 4 พันธุ์ด้วยกัน คือ สุกรพื้นเมืองไทย สุกรพันธุ์เหมยซาน สุกรพันธุ์ดูร็อค และสุกรพันธุ์เปียแตรง เพื่อนำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรใช้สำหรับบริโภคในชุมชน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และจำหน่ายให้แก่ตลาดจำเพาะ ในการวิจัยพัฒนาพันธุ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.
กรมปศุสัตว์ได้นำหมูดำกรมปศุสัตว์ ไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ และได้นำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆของประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับบริโภคในชุมชน และจำหน่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อย โดยเกษตรกรจะนำไปเลี้ยงแบบทั่วไปและเลี้ยงแบบหมูหลุม
ในส่วนของศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมวิจัยและพัฒนาหมูดำกรมปศุสัตว์ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งกระจายพันธุ์หมูดำกรมปศุสัตว์ไปให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,530 ราย เป็นหมูดำจำนวน 5,830 ตัว โดยเกษตรกรส่วนใหญ่นำหมูดำกรมปศุสัตว์ไปเลี้ยงแบบหมูหลุม ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เนื้อหมูที่เป็นเอกลักษณ์ของเนื้อหมูหลุม คือ ไม่มีกลิ่นคาว มีความนุ่ม และรสชาติอร่อย วัตถุประสงค์หลักในการเลี้ยงหมูดำกรมปศุสัตว์ของเกษตรกรเพื่อใช้บริโภคในชุมชน มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และได้ผลพลอยได้จากหมูหลุมเป็นปุ๋ยหมูหลุมซึ่งนำไปใช้กับการปลูกพืชอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของจังหวัดสุรินทร์
ตัวอย่างการนำหมูดำกรมปศุสัตว์ไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูหลุมครบวงจรบ้านกะทม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านโนนทอง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูหลุมครบวงจรบ้านกะทม ซึ่งเป็นฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ ที่มีนางสาวพิมพ์จันทร์ ประทุมทอง เป็นประธาน ได้กล่าวว่า กลุ่มได้รับการสนับสนุนพันธุกรรมสัตว์พันธุ์ดีและความรู้จากกรมปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ได้นำหมูดำกรมปศุสัตว์จากศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ ไปเลี้ยงในระบบหมูหลุม โดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องใช้อาหารข้นที่ทำให้ต้นทุนสูง พบว่าหมูดำกรมปศุสัตว์มีความแข็งแรง โตเร็ว เลี้ยงง่าย ใช้เวลาเลี้ยงถึงน้ำหนักจำหน่ายเมื่ออายุประมาณ 5 เดือน ที่น้ำหนัก 90 กิโลกรัม เมื่อนำมาชำแหละในโรงฆ่ามาตรฐานของกลุ่ม จะได้เนื้อแดงมาก มีมันน้อย เป็นเนื้อที่คุณภาพดี ไม่มีกลิ่นสาบหรือกลิ่นคาวเหมือนเนื้อจากหมูขุนทั่วไป
ตลาดหลักของเนื้อหมูหลุมคือตลาดในชุมชน ทำให้ชุมชนมีเนื้อสัตว์บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ในราคาที่เหมาะสม และเป็นเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัย และยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตจากหมูดำ ทำให้เกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในการเลี้ยงหมูดำกรมปศุสัตว์จะมีรายได้จากการจำหน่ายตัวละประมาณ 1,500-2,000 บาท
ซึ่งการเลี้ยงหมูดำกรมปศุสัตว์ แบบหมูหลุม ทำให้หมูมีความสุข ไม่เครียด ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของหมู โดยเกษตรกรสมาชิกได้รับการถ่ายทอดความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การเลี้ยงสุกร การให้อาหาร การควบคุมป้องกันโรค มีการสนับสนุน ติดตาม อย่างสม่ำเสมอจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และมีการบริหารจัดการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะโรค ASF ที่ติดต่อร้ายแรงในสุกร
ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านโนนทอง ที่มีนางภิญญาพร อัตตบุตร เป็นประธาน เกษตรกรรายย่อย ได้กล่าวถึงหมูดำกรมปศุสัตว์ว่า ได้รับหมูดำมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ และนำมาเลี้ยงในระบบหมูหลุม มีการรองพื้นด้วยแกลบ และราดด้วยน้ำหมักอีเอ็มซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ หมูดำกรมปศุสัตว์เป็นหมูที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้การเลี้ยงด้วยเศษอาหารในครัวเรือน เศษผัก เสริมด้วยรำอ่อนรำหยาบ แหนแดง และหนอนแมลงโปรตีน เป็นแหล่งโปรตีน เมื่อถึงน้ำหนักส่งตลาดจะส่งไปโรงฆ่ามาตรฐาน และนำมาชำแหละเพื่อจำหน่ายในตลาดสีเขียวของอำเภอกาบเชิง และช่องทางออนไลน์ โดยจะทำการตลาดด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียก่อนเพื่อให้ลูกค้าสั่งจองล่วงหน้า หมูที่นำมาชำแหละจะได้เนื้อแดงมาก มีมันน้อย สามชั้นสวย ไม่มีปัญหาเรื่องการขาย ทุกวันนี้เนื้อหมูไม่พอขาย จากการขายเนื้อหมูจะได้กำไรประมาณตัวละ 2,000 บาท และมีรายได้จากการขายขี้หมูหลุมอีกตัวละประมาณ 500 บาท และยังได้ปุ๋ยไว้ในเองในการทำเกษตรผสมผสาน เช่น การปลูกผักปลอดสาร และการปลูกผลไม้
เกษตรกรที่สนใจพันธุ์หมูดำกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อขอข้อมูลหรือซื้อพันธุ์ได้จาก ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 0-5368-4031 ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 0-7731-3883 ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ 0-4454-6109 และที่สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ จังหวัดปทุมธานี 0-2501-1316