สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้เปิดการนำร่องใช้ EnPAT นํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มนํ้ามันไทย
โดย “สมบุญ สหสิทธิวัฒน์” รองผู้อำนวยการ ระบุว่า เป็นความสำเร็จในการติดตั้งและนำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” นํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มนํ้ามันไทย เครื่องแรกร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าของไทยใน การสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนตํ่าของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล
แต่ยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้านํ้ามันจากต่างประเทศและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างปาล์มนํ้ามัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มนํ้ามันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) ที่ต้องการกระตุ้นปริมาณการใช้นํ้ามันปาล์มผ่านความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ทั้งนี้ นํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ และเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดย EnPAT มีคุณสมบัติเด่นคือจุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ช่วยป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด และสามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ
นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม กฟภ. กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานแรกในการนำร่องติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุนํ้ามัน “EnPAT” เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงานและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยทำการติดตั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 การนำร่องใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุนํ้ามัน EnPAT ครั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าภายใต้สภาวะการใช้งานจริง เพื่อประเมินสมรรถนะของหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เพิ่มเติม ในพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ.