ค้นหา

กระถางปุ๋ยเพาะกล้าไม้ชีวภาพ เสริมธาตุ N P K ในดินด้วยจุลินทรีย์ ช่วยพืชเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน,น.ส.กชณัช นาคสัมปุรณะ,น.ส.วธิศรา รุ่งแสง,น.ส.สุชาดา เชื้อมั่น,น.ส.จิณภัค ถมของ,นายณัฐภัทร หิ่มเก่า
เข้าชม 156 ครั้ง

ปัจจุบันการผลิตกล้าไม้ของเกษตรกรทั่วไปมักปลูกหรือชำกล้าไม้ในถุงหรือกระถางที่ทำจากพลาสติก  เมื่อกล้าไม้ที่เพาะชำในกระถางเจริญเติบโตเต็มที่ เกษตรกรจะนำเอากล้าไม้ออกจากถุงเพาะชำ เพื่อนำกล้าไม้นั้นไปฝังลงในดิน โดยการฉีกถุงพลาสติก ส่วนถุงเพาะชำพลาสติกหรือกระถางพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วก็กลายเป็นขยะ มักถูกทำลายโดยการเผาหรือการฝังในดิน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นักศึกษาวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ประกอบด้วย น.ส.กชณัช นาคสัมปุรณะ น.ส.วธิศรา รุ่งแสง น.ส.สุชาดา เชื้อมั่น น.ส.จิณภัค ถมของ และ นายณัฐภัทร หิ่มเก่า จึงเกิดแนวคิดออกแบบพัฒนา “กระถางปุ๋ยเพาะกล้าไม้ชีวภาพเสริมธาตุอาหารในดินด้วยจุลินทรีย์ Bacillus megaterium” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เพื่อเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตรตามหลักการ BCG ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน

ทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

ผลงานกระถางปุ๋ยเพาะกล้าไม้ชีวภาพ ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางธรรมชาติที่มีธาตุ N P K เมื่อนำไปใช้งาน สามารถย่อยสลายธาตุอาหารในดินออกมาใช้ประโยชน์ ทำให้พืชสามารถจับสารอาหารในดินที่ต้องการได้มากขึ้นและมีฤทธิ์ในการเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราแล้ว ยังออกแบบเพิ่มความแข็งแรงของกระถางด้วยเพกตินที่สกัดจากเปลือกส้มโอนำมาเคลือบกระถางเพื่อให้การดูดซึมน้ำและการย่อยสลายเหมาะสมกับที่พืชต้องการส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เมื่อนำไปใช้งาน กระถางปุ๋ยเพาะกล้าไม้ชีวภาพสามารถย่อยสลายในดิน จะมีธาตุ N P K เป็นธาตุหลักของพืช ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมชิ้นนี้ มีจุดเด่น 4 ประการ คือ 1. สามารถช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการทำให้พืชมีการเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น 2. สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม 4. สามารถนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้งานจริงและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชนเกษตรในอนาคต

คุณประโยชน์ที่โดดเด่นของนวัตกรรม “กระถางปุ๋ยเพาะกล้าไม้ชีวภาพเสริมธาตุอาหารในดินด้วยจุลินทรีย์ Bacillus megaterium” ส่งผลให้นักศึกษาวิทยาลัยพณิชยการเชตุพนได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024 ในระดับ “เหรียญทอง” และรางวัล I – NEW GEN Popular Vote 2024  ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100-102 : ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_275395