ค้นหา

เทคนิคใช้ไตรโคเดอร์มา สยบเชื้อราช่วงหน้าฝน

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน ดอทคอม
เข้าชม 130 ครั้ง

“ไตรโคเดอร์มา” เป็นเชื้อราที่พบทั่วไปในดิน เศษซากพืช ซากสัตว์ อินทรียวัตถุ และบริเวณระบบรากพืชซึ่งบางสายพันธุ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถหาอาหารได้มาก ส่งผลให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่มีสปอร์สีเขียวเข้ม เจริญได้ดีในดินที่มีอินทรียวัตถุทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชหลายชนิด ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มาใช้ในการป้องกันการเกิดโรค ดีกว่าใช้เพื่อการรักษาโรค

เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควบคุมโรคอะไรบ้าง เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่ยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด ดังนี้

  1. เชื้อราพิเทียม ทำให้เกิดรากเน่า โคนเน่า โรคยอดเน่าของต้นกล้าในพืชไร่
  2. เชื้อราไฟท็อปทอร่า ทำให้เกิดรากเน่าโคนเน่าในไม้ผล
  3. เชื้อสคลอโรเทียม หรือราเม็ดผักกาด ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้ โรคเหี่ยวในพืชผัก
  4. เชื้อราฟิวซาเรียม ทำให้เกิดโรคเหี่ยวในพืชผัก
  5. เชื้อราไรซ็อกโตเนีย ทำให้เกิดโรคเน่าคอดินในพืชผัก
โรคเน่าดำกล้วยไม้
โรคแอนแทรกโนสของพริก

เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทำลายโรคพืชได้อย่างไร

  1. เป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช โดยสร้างเส้นใยพันรัดเส้นใยโรคพืช และเจริญแทงเข้าสู่ภายในเส้นใยโรคพืช ทำให้เชื้อโรคพืชถูกทำลาย ส่งผลให้ปริมาณเชื้อโรคพืชลดลง
  2. แข่งขันกับเชื้อโรคพืช โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญสร้างเส้นใย และสปอร์อย่างรวดเร็ว จึงสามารถแข่งขันแก่งแย่งอาหารกับเชื้อโรคพืช
  3. สร้างสารยับยั้งเชื้อโรคพืช โดยสร้างปฏิชีวนสาร และเอนไซม์ซึ่งมีผลในการยับยั้งและทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืช

ไตรโคเดอร์มา สามารถทำลายโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราได้ อย่างเช่น โรคราน้ำค้าง โรคราแป้ง โรครากเน่า โรคราสนิม และที่สำคัญไตรโคเดอร์มา ไม่เป็นอันตรายต่อแมลง มนุษย์ และสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. คลุกเมล็ด เพื่อควบคุมโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ เช่น โรคราน้ำค้าง โรคแอนแทรกโนส โดยใช้เชื้อสดประมาณ 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ผสมน้ำ 10 มิลลิลิตร (1 ช้อนแกง) ใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม สำหรับการแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้เชื้อสด 1/2 กิโลกรัมต่อน้ำ 100 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำเชื้อ หลังจากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว 1 คืน แช่ในน้ำเชื้อประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง
  2. ใช้ทางเดิน โดยใช้เชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมรำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำส่วนผสมของเชื้อไปใช้ประโยชน์ได้ดังนี้

– ผสมกับวัสดุเพาะกล้า โดยใช้ส่วนผสมของเชื้อ 4 ส่วน และวัสดุเพาะกล้า 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปใช้เพาะกล้า

– รองก้นหลุม หว่าน หรือโรย โดยในพืชผักใช้วิธีหว่านส่วนผสมของเชื้อประมาณ 80-160 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 50-100 กรัมต่อต้น (ประมาณ 1 กระป๋องนม) ส่วนในไม้ผลหรือไม้ยืนต้นใช้ 3-5 กิโลกรัมต่อต้น

  1. ฉีดพ่น โดยใช้อัตราส่วนเชื้อสด 1/2 กิโลกรัมต่อน้ำ 30-100 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำเชื้อ นำไปฉีดพ่นเพื่อควบคุมโรคต่างๆ เช่น โรคแอนแทรกโนสของพริก โรคใบติดของทุเรียน โรคผลเน่าของสละ สำหรับการใช้ในนาข้าว ใช้ฉีดพ่นอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ระยะแตกกอ ตั้งท้อง และออกรวง เพื่อควบคุมโรคข้าวที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าคอรวง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคกาบใบแก้ง
  2. ทาลำต้น ใช้เชื้อสด 1/2 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร และฝุ่นแดง 1/2 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน ทาบริเวณที่เป็นโรคซึ่งได้ถากเปลือกบางส่วนไว้แล้ว

ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
ยับยั้งและทำลายเชื้อราก่อโรคพืชเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายแก่พืช
ช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างความต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค
ส่งเสริมและช่วยพัฒนาให้พืชมีการเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ธาตุอาหารต่างๆ ของพืช โดยปรับเปลี่ยนธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ เพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดิน เพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ ป้องกันเชื้อราเข้าทำลายเมล็ดพันธุ์จนทำให้เกิดโรคที่เมล็ด เช่น โรคเมล็ดด่างในข้าว
ข้อควรระวัง
– ไม่ควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี และพื้นที่ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช
– ควรใช้ในช่วงเช้าหรือเย็น เพราะในช่วงกลางวันมีอากาศร้อน แสงแดดจัด ทำให้เชื้อตาย
– เชื้อสดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 เดือน หากกรองเอาสปอร์ผสมน้ำแล้ว ควรเก็บไว้ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 7 วัน
– ควรมีการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_281681