หัวใจสำคัญเพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพ คือการปรับปรุงบำรุงดิน กรมวิชาการเกษตรแนะให้วิเคราะห์แล้วใส่ปุ๋ยตามค่าที่เหมาะสม จะช่วยทั้งลดต้นทุน ได้ดินดี และมีรายได้เพิ่ม
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนราชาผลไม้ที่จีนนำเข้าปีละหลายแสนล้านบาท โดยปี 2565- 2566 ไทยกลายเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก และอันดับ 1 ในจีน โดยยอดส่งออกทุเรียนทะลุ 1 แสนล้านบาท แซงหน้า มันสำปะหลัง ยางพารา ส่งผลให้หลายประเทศกระโดดเข้าแย่งตลาดส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย
นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา ฯ มองอนาคตทุเรียนไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันสูง จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อจะนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับเป้าหมาย ขับเคลื่อน IGNITE THAILAND “จุดประกายเกษตรไทย สู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก” เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี
ดังนั้น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจึงน่าจะเป็นคำตอบหนึ่ง ที่จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพราะการใช้ปุ๋ยเป็นต้นทุนสำคัญมากกว่า 30% ของต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร จากการวิจัยในแปลงสาธิต ในจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ พบหลังจากวิเคราะห์ดินเพื่อทราบถึงแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสม ต้นทุนการใช้ปุ๋ยลดลง 20% หรือลดลงประมาณ 6% ของต้นทุนการผลิตโดยภาพรวม
การลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ชาวสวนทุเรียนจำเป็นต้องวิเคราะห์ดินเพื่อทราบถึงแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยกว่าความต้องการของทุเรียน เพราะแร่ธาตุในดินล้วนส่งผลต่อปริมาณปุ๋ยที่ใช้ ก่อนการให้ปุ๋ยในแต่ละฤดูกาล เกษตรกรจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวอย่างดิน เพื่อให้รู้ว่าในดินแปลงนั้น มีธาตุอาหาร อาทิ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นต้น ในปริมาณมากน้อยเท่าไหร่
สำหรับการวิเคราะห์ดิน เกษตรกรต้องส่งตัวอย่างดินไปที่กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วประเทศ ขอย้ำว่า ในส่วนนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆสำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว
เมื่อกลุ่มวิจัยเกษตรเคมี ได้รับตัวอย่างดิน ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างดินก่อนส่งรายงานผลการวิเคราะห์มายังกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา เพื่อประเมินและออกคำแนะนำการใช้ปุ๋ยไม่เกิน 1-3 วัน เกษตรกรสามารถนำคำแนะนำที่ได้มาใช้ในการจัดการปุ๋ยแก่พืชได้เลย หรือ นำรายงานผลการวิเคราะห์ดินมาพิจารณาร่วมกับตารางคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับทุเรียน โดยเกณฑ์การประเมินธาตุอาหารเพื่อนำไปพิจารณาอัตราการใช้ปุ๋ยต่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของทุเรียนให้เหมาะสมจะแตกต่างกันตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
สำหรับการใส่ปุ๋ยในทุเรียนแบ่งใส่ 4 ครั้งต่อปี คือ (1) ระยะบำรุงต้น (ช่วงตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว) (2) ระยะสร้างตาดอก (ก่อนออกดอก 1-2 เดือน) (3) ระยะบำรุงผล (หลังดอกบาน 1 เดือน) และ (4) ระยะปรับปรุงคุณภาพ (ก่อนเก็บเกี่ยว 2 เดือน) นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงความเป็นกรด-ด่างของดินให้มีความเหมาะสมตามความต้องการของทุเรียน
สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างดินในแปลงทุเรียน
1. สุ่มเก็บตัวอย่างดินจำนวน 10-20 ต้นต่อแปลง (พื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่)
2. เก็บตัวอย่างดินจาก 4 ทิศรอบต้น ห่างจากชายพุ่มเข้าไปด้านในประมาณ 50 เซนติเมตร
3. เก็บตัวอย่างดินที่ 2 ระดับความลึก คือ (1) ดินบนที่ความลึก 0-15 เซนติเมตร และ (2) ดินล่างที่ความลึก 15-30 เซนติเมตร
4. รวมตัวอย่างดินจาก 4 จุด ให้เป็นตัวอย่างดินบน 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างดินล่าง 1 ตัวอย่าง
5. นำตัวอย่างดินบนของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดของตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น
6. นำตัวอย่างดินล่างของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดของตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น
7. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การปรับปรุงดิน และการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในปีต่อ ๆ ไป และ หากเกษตรกรต้องการปรึกษาขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดิน หรือปรึกษาปัญหาการใช้ปุ๋ย
สามารถติดต่อมาที่ กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 50 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900โทรศัพท์ 0-25797514 0-25794116