ค้นหา

ศมข.สุรินทร์ คัดเลือก 2 กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าว นำร่องขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์
เข้าชม 94 ครั้ง

นายฉันทลักษณ์ ฆารไสว ผู้อำนวยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า ศมข.สุรินทร์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมเกษตรแปลงงใหญ่ โดยบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มร่วมกันบริหารจัดการแปลงเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ 232 แปลง เกษตรกร 23,490 ราย พื้นที่ 334,662 ไร่ โดย ศมข.สุรินทร์ จะรับผิดชอบ ดูแลแปลงใหญ่ 143 แปลง ในเขตพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ ชุมพลบุรี ท่าตูม รัตนบุรี จอมพระ ศรีขรภูมิ สำโรงทาบ สนม เมืองสุรินทร์ โนนนารายณ์ และเขวาสินรินทร์ ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าว มีความเข้มแข็งอยู่ในระดับดี เนื่องจากคณะกรรมการกลุ่มได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ค่อยติดตามและให้คำปรึกษา แม้บางกลุ่มจะมีปัญหา แต่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กลุ่มสามารถบริหารเดินไปได้ ที่สำคัญมีศักยภาพพร้อมที่จะส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”

จากที่ ศมข.สุรินทร์ ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล หาประเด็นปัญหา และแนวทางที่จะให้กลุ่มเกษตรกรได้เพิ่มมูลค่าของสินค้าให้เป็นมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 3 เท่า ภายใน 4 ปี โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พาณิชย์ ธ.ก.ส. และพัฒนาชุมชน เพื่อที่จะหาจุดพัฒนาขึ้น ซึ่งเน้นการแปรรูปข้าว เพื่อให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เบื้องต้นได้คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวนำร่อง 2 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน นาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีเมืองแก โดยจะมีการส่งเสริมแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว  หรือขนมพื้นเมือง ซึ่งจะมีการอบรมความรู้เรื่องกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น อย.  มผช. ซึ่งคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ การขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง จะเห็นเป็นรูปธรรม มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาแน่นอน

“การที่กลุ่มเกษตรกรจะพัฒนามาสู่จุดที่จะสร้างรายได้เพิ่ม จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนได้เต็มที่ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ มีความสามัคคีกัน ช่วยกัน โดย ศมข.สุรินท์ ก็ได้พยายามช่วย ทั้งเรื่องข้อมูล การประสาน การผลิต และการจำหน่าย เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย คือเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการ ศมข.สุรินทร์ กล่าว

ด้านนางรจนา สีวันทา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี 2539 จากนั้นได้รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ และได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ เมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 363 ราย ปลูกข้าวมะลิ 105 และ กข15 ปลูกข้าวนาปี ผลผลิตข้าวแต่ละปีเฉลี่ยไร่ละ 300 กว่ากิโลกรัมต่อไร่ โดยกลุ่มฯ มีการแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วไป ออกบูธจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ จำหน่ายทาง Line และ Facebook และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ไปยังเครือข่ายในจังหวัดใกล้เคียง 

จุดเด่นของกลุ่มฯ คือการทำนาอินทรีย์ เกษตรกรสามารถที่จะรวมกลุ่มในพื้นที่กว้างได้ เพื่อทำนาอินทรีย์อย่างเต็มระบบ ซึ่งการทำนาอินทรีย์ช่วยลดต้นทุนการผลิต คุณภาพข้าวดีขึ้น ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น สุขภาพของเกษตรกรภายในกลุ่มก็ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวอินทรีย์ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทางกลุ่มเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังยกระดับในด้านราคาที่สูงขึ้นกว่าตลาดทั่วไป และทางกลุ่มยังได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์

ทั้งนี้ กลุ่มฯ ได้มีการเพิ่มผลผลิตในแปลงนา ซึ่งเดิมจะปลูกข้าวแบบนาหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 30 กก./ไร่ แต่ได้รับความรู้ใหม่จากกรมการข้าวในการลดใช้เมล็ดพันธุ์ โดยส่งเสริมให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง และปรับวิธีการปลูกแบบนาหยอด ทำให้ลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 12 กก./ไร่ และยังได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดีแจกจ่ายให้กับสมาชิกได้ใช้ และส่งให้กับ ศมข.สุรินทร์ นอกจากนี้ กลุ่มฯ ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าว โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว เรื่ององค์ความรู้ในการแปรรูปผลผลิตที่ได้ระหว่างกระบวนการสีข้าวเป็นข้าวสาร เช่น น้ำนมข้าว รวมทั้งฟางข้าวก็นำมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ เช่น เป็นอาหารสัตว์ พูดได้ว่าสามารถเอาทุกสิ่งทุกอย่างในแปลงนามาสร้างประโยชน์ และแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงได้ 

“โครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ถือเป็นความรู้ใหม่ จากเดิมแค่สีเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้เรื่องกระบวนการแปรรูป จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำสลัดจากข้าว แปรรูปเป็นเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท กล่าว 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/563410