ค้นหา

“เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน” สินค้า GI หนึ่งเดียวในโลก

เข้าชม 122 ครั้ง

“เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน” (Bo Kluea Nan Rock salt wรือ Kluea Phu Khao Bo Kluea Nan) หมายถึง เกลือป่น ดอกเกลือ มีลักษณะเป็นสีขาว สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่น ละลายในน้ำได้ดี รสชาติเค็มกลมกล่อม ซึ่งได้จากการนำน้ำใต้ดินมาผ่านการต้มด้วยเตาดินภูเขา โดยโรงต้มเกลืออยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบ่อหลวงหมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยทางจังหวัดน่านขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) “เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน” และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้”เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564

หมู่บ้านบ่อหลวง ตั้งอยู่ในตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 101 องศา 10 ลิปดา 0 ฟิลิปดาองศาเหนือ และลองจิจุดที่ 19 องศา 8 ลิปดา 30 ฟิลิปดาตะวันออก มีลักษณะเป็นหย่อมหมู่บ้าน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาสูง มีแนวภูเขาทอดยาวจากเหนือจรดใต้ โดยมี”ลำน้ำมาง” ขนานกับหมู่บ้าน นอกจากนี้หมู่บ้านยังรายล้อมด้วยป่าของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เฉลี่ยความสูงจากระดับน้ำทะเล โดยประมาณ 400 – 1,100 เมตร ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 80 กิโลเมตร

441462461 987860740006725 958273974919869892 n

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปจะเย็นสบายตลอดทั้งปี มีทั้งลมภูเขาและลมหุบเขา ด้วยบ้านบ่อหลวง ตั้งอยู่บริเวณร่องเขาสูง และมีป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงมีอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี เมื่อถึงฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัดมาก อุณหภูมิอยู่ในช่วง 1 – 7 องศาเซลเซียส ช่วงกลางคืนอุณหภูมิจะลดลง 0 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อนจะอยู่ในระยะสั้นๆ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิอยู่ในช่วง 28 – 33 องศาเซลเซียส และฤดูฝนลมมรสุมในอ่าวตังเกี่ยพัดผ่านประเทศเวียดนามและประเทศลาว ฝนจะตกชุกมากไปถึงพฤศจิกายน ซึ่งมีปริมาณฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี จนถูกขนานนามว่า “เมืองในหุบเขาสองฤดู” ที่มีอากาศบริสุทธิ์ตลอดทั้งปี

จากหลักฐานทางธรณีวิทยาสามารถจัดหมวดหินได้เป็น “หมวดหินบ่อเกลือ” ยุคครีเทเซียสตอนปลาย เป็นหน่วยหินที่มีความหนาประมาณ 200 – 300 เมตร ประกอบด้วยหินทรายแป้ง สลับหินโคลนสีแดง สีน้ำตาล พบแร่เกลือระเหยปนอยู่ในเนื้อหิน หรือพบเป็นชั้นบางแทรกสลับเล็กน้อยด้วยหินทรายอาร์โคสสีแดงอิฐซึ่งหมู่บ้านบ่อหลวงตั้งอยู่บริเวณเดียวกับ “รอยเลื่อนบ่อเกลือ” ที่วางตัวในแนวเหนือใต้ จัดเป็นแนว “รอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด” ในบรรดารอยเลื่อนที่พบในอำเภอบ่อเกลือ จึงทำให้หมู่บ้านบ้านบ่อหลวงมีบ่อเกลือที่มีน้ำใต้ดินตลอดทั้งปี โดยจุดที่พบมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 20 – 40 เมตร น้ำเกลือใต้ดิน ที่เกิดจากลักษณะทางธรณีวิทยาดังกล่าวจึงเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต “เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน” ที่เป็นเกลือภูเขาบริสุทธิ์แห่งเดียวในประเทศไทย

ด้วยลักษณะพื้นที่และแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ประกอบกับประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน ส่งผลให้การผลิตเกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน มีลักษณะขาวนวล สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่น ละละลายในน้ำได้ดี รสชาติเค็มกลมกล่อม และมีชื่อเสียงด้านการผลิตเกลือภูเขาที่ไม่มีใครเหมือน อันเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมของคนบ้านบ่อหลวงที่มีมาตั้งแต่โบราณตราบจนปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา


บ้านบ่อหลวง เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 800 ปี ซึ่งเดิมทีเป็นดินแดนแห่งการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงมีผู้คนหลากหลายมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ในสมัยโบราณอำเภอบ่อเกลือ มีชื่อว่า “เมืองบ่อ” เป็นชุมชนขนาดใหญ่และภายในพื้นที่รอบๆ มีบ่อน้ำเกลือภูเขามากถึง 9 บ่อ จากตำนานที่เล่าขานกันมา ได้กล่าวว่า ก่อนที่จะมีผู้คนมาอาศัยอยู่นั้น บริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ จนมีนายพรานผู้หนึ่งผ่านมาเห็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำกันที่นี้ จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมสัตว์ถึงชอบกินน้ำบริเวณนี้ พอได้ชิมดูจึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม

ข่าวได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหลวงปัวและเจ้าหลวงบ่อ จึงได้มาดูบ่อน้ำเกลือ และต่างก็ต้องการครอบครอง จึงคิดหาวิธีการโดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปอยู่ที่ยอดดอยภูจั่น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเน้า (หอก) แสดงแสนยานุภาพเพื่อครอบครองบ่อน้ำเกลือ โดยมีเจ้าหลวงภูคาเป็นผู้ตัดสิน เจ้าหลวงปัวพุ่งหอกไปตกทางตะวันตกของลำน้ำมาง(ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน) เจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปตกทางตะวันออกของลำน้ำน้ำมาง (ตรงที่ตั้งหอเจ้าพ่อบ่อหลวงในปัจจุบัน) ผู้คนที่พากันมาดูการแข่งขันพุ่งหอก ได้นำเอาก้อนหินมาก่อไว้เป็นที่สังเกต แล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนเจ้าหลวงทั้งสองพระองค์ทุกปี ภายหลังทั้งสองพระองค์คิดกันว่าจะนำคนที่ไหนมาอยู่ เมื่อปรึกษากันแล้ว เจ้าหลวงภูคาจึงไปทูลเจ้าเมืองเชียงรายเพื่อขอประชาชนที่อยู่เมืองเชียงแสนมาหักร้างถางพงทำเกลืออยู่ที่นี้ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบันนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเครื่องมือหินในพื้นที่จึงสันนิษฐานว่ามีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอำเภอบ่อเกลือแห่งนี้ราว 5,000 – 1,500 ปีมาแล้ว

อำเภอบ่อเกลือเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงในการทำเกลือบนภูเขาที่ไม่มีที่ใดเหมือน เรียกว่า “บ่อเกลือภูเขาหนึ่งเดียวในโลก” เป็นบ่อน้ำเกลือที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาแห่งเดียวในโลกซึ่งมีมาแต่โบราณ และนำไปจำหน่ายยังกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้ ที่ผ่านมามีบ่อเกลือหลายบ่อแต่ได้แห้งไปหมดเหลืออยู่เพียงสองบ่อ คือ บ่อเหนือและบ่อใต้ ซึ่งการต้มเกลือภูเขาของชาวบ่อเกลือมีอารยธรรมสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ที่ทำให้การต้มเกลือคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน คือชาวบ้านบ่อหลวงจะไม่ต้มเกลือในช่วงเข้าพรรษาและมีช่วงพิธีกรรมที่สำคัญ ในวันแรม 8 ค่ำ ของเดือน 5 หมู่บ้านบ่อหลวงจะปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกหมู่บ้าน ด้วยยานพาหนะทุกชนิดเป็นเวลา3 วันแต่สามารถเดินเท้าเข้ามาได้ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ชาวบ่อหลวงทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ด้วยการบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อจะมีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผีเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกปักคุ้มครองและให้เกลือเป็นทรัพยากรที่พวกเขาสามารถนำมาใช้และเลี้ยงชีพมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ประเพณีเหล่านี้ไม่มีตำนานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี การทำเกลือภูเขาของคนบ้านบ่อหลวงจึงเป็นมากกว่าการผลิตเพื่อยังชีพ หรือเพื่อค้าขาย แต่เป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมของคนบ้านบ่อหลวงที่มีมาตั้งแต่โบราณ

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

น้ำใต้ดินที่ตักจากบ่อเกลือ 2 บ่อ ที่เรียกว่า “บ่อเหนือ” และ “บ่อใต้” มีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ20 – 40 เมตร ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยสามารถตักน้ำเกลือได้ทุกเดือน ยกเว้น ช่วงแก้ม หรือ ช่วงทำพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าบ่อประจำปี ช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่หยุดตักน้ำจากบ่อตามจารีตประเพณี และช่วงเข้าพรรษา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน น้ำได้ดินจะมีการเจือปนจากน้ำฝน ทำให้มีความเค็มไม่คงที่

โรงต้มเกลือ

(1) โรงต้มเกลือควรทำจากไม้ไผ่ที่ปิดทึบป้องกันลมผ่าน เพื่อลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และทำให้ความร้อนมีความสม่ำเสมอ และจะทำให้ผลึกเกลือมีความละเอียดและสม่ำเสมอ

(2) เตาต้มเกลือเป็นเตาดินเหนียว การใช้ดินเหนียวปั้นเตาจะช่วยเก็บรักษาความร้อนได้เป็นอย่างดี เป็นการก่อเตาหลุมโดยไม่ใช้โครง มีขนาดความสูงอยู่ในช่วง 50 – 60 เซนติเมตร ความยาวอยู่ในช่วง 200 – 220เซนติเมตร และความกว้างอยู่ในช่วง 100 – 200 เซนติเมตร ผนังเตาบริเวณกึ่งกลางเตาต้องมีความหนาเป็นพิเศษเพื่อรองรับน้ำหนักของกระทะต้มเกลือ และด้านบนมีช่องวงกลม 2 ช่อง ห่างกันประมาณ 30 เชนติเมตรแต่ละช่องมีขนาดรัศมี 60 – 70 เซนติเมตร สำหรับวางกระทะใบบัว

อุปกรณ์

(1) คานไม้ไผ่ ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักห่างจากบ่อ และไม้คานที่ปลายด้านหนึ่งมีหินถ่วงไว้ที่ปลายไม้และอีกด้านหนึ่งเป็นถังมีเชือกผูกถังที่ยาวสำหรับหย่อนถังลงไปในบ่อน้ำเกลือ

(2) ใบตองกุ๊ก หรือใบตองก้า เป็นใบไม้ที่มีลักษณะเรียวยาวและมีขน มารองบริเวณขอบเตา เพื่อให้กระทะแนบสนิทกับเตาต้ม ป้องกันไม่ให้สูญเสียความร้อนไประหว่างการต้ม

(3) กระทะใบบัว เหล็กหล่อเบอร์ 36 – 38

(4) ฟืน เป็นเชื้อเพลิงในการต้มเกลือ ซึ่งได้จากต้นไม้เนื้ออ่อนที่ล้มอยู่ในป่าทิ้งไว้จนแห้งแล้ว จากในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง หรือเศษไม้ที่หาได้ตามธรรมชาติในพื้นที่

(5) แป้น หรืออุปกรณ์ตักเกลือ ที่ทำจากไม้ไผ่

(6) ซ้า หรือตะกร้าใส่เกลือ ที่ทำจากไม้ไผ่

(7) เป็าะ หรือเสวียน หรือยุ้งพักเกลือ ที่ทำจากไม้ไผ่

(8) ผ้าดิบ ที่มีร่องระบาย รองในเป็าะ หรือเสวียน หรือยุ้งพักเกลือ เพื่อเป็นพื้นที่เก็บเกลือ

การตักน้ำเกลือ

การตักน้ำเกลือ ช่วงแรกจะต้องตักน้ำเกลือและเททิ้งประมาณ 5 – 6 ถัง เนื่องจากยังมีน้ำจืดเจือปนอยู่ จากนั้นจึงเริ่มตักน้ำเกลือเทลงในโอ่งหรือภาชนะที่เหมาะสมโดยมีท่อส่งน้ำเกลือไปพักไว้ที่โรงต้มเกลือ โดยผู้ที่จะตักน้ำต้องเป็นผู้ชายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน หรือมีฐานะเป็นลูกเขยของคนในหมู่บ้าน และเป็นเจ้าของโรงต้มเกลือและจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ไม่เปลือยกายท่อนบน และต้องถอดรองเท้าก่อนตักน้ำเกลือ

การต้มเกลือ

1) นำใบตองกุ๊ก หรือใบตองก้า มารองบริเวณของเตา เพื่อให้กระทะแนบสนิทกับเตาต้ม ป้องกันไม่ให้สูญเสียความร้อนระหว่างการต้ม

(2) เทน้ำเกลือจากบ่อพัก ใส่กระทะต้มเกลือกระทะละประมาณ 80 ลิตร จากนั้นทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “ปู่เอือดย่าเอือด” ตามจารีตประเพณีท้องถิ่น

(3) จุดไฟ โดยใช้ฟืนที่ได้จากต้นไม้เนื้ออ่อนที่ล้มอยู่ในป่าทิ้งไว้จนแห้งแล้ว จากในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นเชื้อเพลิงในการต้มเกลือ หรือเศษไม้ที่หาได้ตามธรรรมชาติในพื้นที่

(4) การตั้งกระทะเพื่อต้มเกลือในแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน 1 คืน จะต้มน้ำเกลือได้ 4 รอบและได้เกลือ 100 – 120 กิโลกรัมต่อรอบ

(5) ต้มน้ำเกลือจนน้ำระเหย และเห็นผลึกเกลือลอยอยู่ด้านบนผิวน้ำ จากนั้นใช้ “แป๋น” หรืออุปกรณ์ตักเกลือ คอยตักผลึกเกลือใส่ “ซ้า” หรือตะกร้า ซึ่งจะแขวนอยู่เหนือกระทะต้มเกลือ โดยการต้มเกลือให้เต็ม”ซ้า” และรอให้เกลือสะเด็ดน้ำ ใช้เวลาประมาณ 6 – 7 ชั่วโมง ซึ่งจะได้เกลือประมาณ 15 กิโลกรัม

(6) หลังเกลือใน”ซ้า” สะเด็ดน้ำแล้ว ให้นำเกลือไปเทใส่ที่พักเกลือที่เป็น “เป๊าะ” หรือเสวียน หรือยุ้งพักเกลือที่ทำจากไม้ไผ่ รองด้วยผ้าที่สะอาดที่มีร่องระบายอยู่ใต้ยุ้ง เพื่อระบายน้ำส่วนเกินออก และทำการเทเกลือที่สะเด็ดน้ำใส่ยังไปเรื่อยๆ จนน้ำเกลือในกระทะแห้งหมด และทำการเติมน้ำเกลือจากบ่อพักลงไป เพื่อต้มรอบใหม่ ซึ่งการตั้งกระทะต้มเกลือแต่ละครั้ง จะเป็นการต้มเกลือทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกัน รวม 5 คืน 6 วัน แล้วจึงทำการล้างกระทะพักเตา หากต้มนานกว่านี้จะทำให้กระทะและเตาแตกได้

(7) ผึ่งเกลือในที่พักเกลือจนแห้ง และทำการบรรจุเกลือลงในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด

(8) ทำการล้างกระทะ โดยนำเอากระทะไปวางในแม่น้ำท้ายหมู่บ้าน หรือลำน้ำน้ำมางเพื่อให้น้ำไหลผ่าน จากนั้นจึงทำความสะอาดเอาตะกรันที่ติดกันกระทะออก ช่วยให้กระทะสามารถทำความร้อนได้ดี และเตรียมพร้อมสำหรับการต้มครั้งต่อไป

แชร์ :