ค้นหา

เกษตรฯเดินหน้ามาตรการ แก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 67 ครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร ครั้งที่2/2567 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมปี 2567/68 ประกอบด้วย 3 ประเด็น ดังนี้ 1.การเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ และปราบปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ยกระดับมาตรการปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง (PM2.5) โดยให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาตัดสิทธิการรับความช่วยเหลือชดเชยต่างๆ จากภาครัฐ หากตรวจพบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรกรรม จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่มีการเผา รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และป้องปรามการเผาพื้นที่เกษตรกรรม ให้มีชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระงับยับยั้งเหตุ ตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ออกจดหมายแจ้งเตือนให้ตระหนักถึงข้อเสียของการเผาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมกับให้คำแนะนำการจัดการเศษวัสดุให้กลุ่มเป้าหมาย

2.การส่งเสริมการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดการเผา โดยส่งเสริมการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบไม่เผาการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมปี 2567/68 ต่อไป

3.การเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมในระยะถัดไป อาทิ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM2.5 Free Plus) ปี 2567 แนวทางการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณ PM2.5 สำหรับพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืนตามกรอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 3R ประกอบด้วย (1) Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเป็นการปลูกแบบไม่เผา เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย (รวมถึงนาข้าว) ในพื้นที่เดิม โดยส่งเสริมให้เกษตรเข้าร่วมโครงการตามมาตรฐาน GAP (2) Replace with perennial crops : การปลูกทดแทนจากพืชล้มลุก เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่นไม้ผล (กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง) หรือไม้ยืนต้นที่ไม่โตเร็วสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ดี และ (3) Replace with Alternate crops : การปลูกทดแทนในพื้นที่นาปรัง ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังเป็นพืชหลังนาปรังที่มีศักยภาพและใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/828206