ค้นหา

“เมตาไรเซียม” จุลินทรีย์กำจัดแมลง ปลอดภัย ใช้ง่าย ได้ผลไว!!!

https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_288452
เข้าชม 111 ครั้ง

ปัญหาแมลงศัตรูพืชเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักๆ เมื่อปลูกพืชไม่ว่าจะเป็นไม้ประดับหรือพืชเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่ต้องเจอเสมอ ปัจจุบันเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจปลูกพืชจะเน้นการป้องกันแบบธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สารชีวภัณฑ์หรีอจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์แล้ว ยังเป็นการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน 

จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่าง เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorok เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่พบในดิน หากมองด้วยตาเปล่าจะสังเกตได้ยาก ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคได้ในแมลงหลายชนิด อย่างเช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ตั๊กแตน และเพลี้ยต่างๆ และยังสามารถกำจัดแมลงในดินได้อีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มหนอนด้วงแรด (rhinoceros beetle) ที่อยู่ในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ซึ่งเชื้อราเมตาไรเซียมสามารถทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็ววัย นอกจากนี้ ยังเป็นเชื้อราที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง  

กลไกลการทำงานของเชื้อราเมตาไรเซียมจะควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างไรนั้น สามารถอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้ เมื่อสปอร์ของเชื้อราเมตาไรเซียมสัมผัสโดนตัวแมลงในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และต้องมีความชื้นสูงพอสมควรจะช่วยให้เกิดการงอกเข้าไปในตัวของแมลง

หลังจากเชื้อราเมตาไรเซียมเข้าไปเจริญในตัวของแมลงแล้ว ในระยะแรกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลบนผนังลำตัว และต่อมาจะเริ่มเกิดเป็นเส้นใยสีขาวบนลำตัวของแมลงที่ได้สัมผัสกับเชื้อราเมตาไรเซียม อีกไม่นานจะพบสปอร์ลักษณะคล้ายๆ ฝุ่นสีเขียวคล้ำปกคลุมทั่วตัวของแมลง หากได้นำมือไปบีบแมลงที่ตายจะพบว่าลำตัวของแมลงจะมีลักษณะแข็ง

หรืออวัยวะภายในของแมลงที่ได้สัมผัสเมตาไรเซียมจะค่อยๆ ได้รับความเสียหายไปด้วยเช่นกัน เส้นใยจะเจริญเติบโตและแพร่กระจายจนเต็มตัวเหยื่อที่เข้าไปอาศัย และแมลงศัตรูพืชเปล่านั้นจะค่อยๆ ตายมีลักษณะตัวแห้งและแข็ง เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “มัมมี่” เพราะเส้นใยเชื้อราจะเข้าไปเจริญอัดแน่นอยู่ภายในลำตัว เมื่อผ่านไปได้อีกระยะหนึ่งเชื้อราจะแทงทะลุผ่านผนังลำตัว พร้อมทั้งแพร่กระจายพันธุ์ภายนอกในช่วงแรก พร้อมทั้งสร้างเส้นใยสีขาวขึ้นปกลุมลำตัว และสร้างสปอร์สีเขียวในเวลาต่อมา

ขอบคุณข้อมูลจาก 

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ 

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา 

กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_288452