- ภายในปี “สเปน” สภาพภูมิอากาศแบบภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทราย และทะเลทรายเขตอบอุ่น จะกินพื้นที่ราว 40% ของสเปน และจะแทนที่สภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
- ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สเปนมีปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังอุณหภูมิสูงขึ้น เผชิญฤดูร้อนที่ยาวนาน เกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น
- อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งละลาย ทำให้เมืองชายฝั่งในสเปนที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะจมน้ำ
ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุโรปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะใน “สเปน” ที่กำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก และอาจจะกลายเป็นทะเลทรายในอีกไม่ช้า
นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งคาตาลัน (UPC) ในสเปน คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ปริมาณน้ำฝนจะลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สเปนเปลี่ยนจากภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่อบอุ่น เป็นภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าหรือคล้ายทะเลทราย ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน ที่แบ่งโลกออกเป็น 5 เขตภูมิอากาศแตกต่างกันตามการเติบโตของพืช
“เราสามารถเห็นผลกระทบของอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดเจนแผ่นดินใหญ่ของสเปน และหมู่เกาะแบลีแอริก ซึ่งถือเป็นพื้นที่จุดความร้อนที่แท้จริง” นักวิจัยเขียนไว้
ผลการวิจัยที่นำเสนอในการประชุมอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศของสมาคมอุตุนิยมวิทยายุโรป (EMS) ในบาร์เซโลนาเมื่อต้นเดือนกันยายน 2024 เผยให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
สเปนร้อนขึ้นจนมีอากาศแบบทะเลทราย
ระหว่างปี 1971-2022 อุณหภูมิในแผ่นดินใหญ่ของสเปน และหมู่เกาะแบลีแอริก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะมาจอร์กา จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการพักผ่อน เพิ่มขึ้น 3.27 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1.19 องศาเซลเซียส และค่าเฉลี่ยของเมดิเตอร์เรเนียนที่ 1.58 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สเปนจำนวนที่มีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้น เพิ่มขึ้น 43 % จาก 82.4 วัน ในปี 1971 เป็น 117.9 ฤดูร้อนกินเวลายาวนานเฉลี่ย 36 วันทั่วทั้งสเปน ขณะเดียวกัน จำนวนวันที่ตอนกลางคืนมีอุณหภูมิไม่ลดลงต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ก็เพิ่มขึ้นจาก 1.73 วัน เป็น 14.12 วัน
นักวิจัยระบุว่า โดยส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ ที่มีอากาศร้อนในตอนกลางคืนเพิ่มขึ้นจะกระจุกตัวอยู่ในที่ราบสูงตอนใต้ บริเวณหุบเขาใกล้แม่น้ำกัวดัลกิบีร์ และเอโบร ตลอดจนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ส่วนการเกิดคลื่นความร้อนก็เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม จากเดิมที่ช่วงปี 1971-1980 จะเกิดคลื่นความร้อนเฉลี่ยปีละไม่ถึงหนึ่งครั้ง เป็นปีละเกือบสองครั้งในช่วงระหว่างปี 2013-2022 ทั้งนี้คลื่นความร้อนยังยาวนานขึ้น จะอยู่ในช่วง 3-9 วันโดยเฉลี่ย
การศึกษาแสดงให้เห็นถึงด้วยว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สเปนมี “ปริมาณน้ำฝน” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 1971-2022 ปริมาณน้ำฝนลดลงในอัตรา 0.93 มม. ต่อปี ทำให้ประเทศเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน กลับมีตกหนัก (เกิน 60 มม. ต่อวัน) เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของสเปน ทั้งใน อันดาลูเซีย กัสติยาลามันชา มูร์เซีย บาเลนเซีย คาตาลันตอนใต้ หมู่เกาะแบลีแอริก อารากอน นาวาร์ แคว้นบาสก์ และอัสตูเรียส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วฝนจะตกกระจุกตัวอยู่ที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพิเศษ อาจทำให้เกิดน้ำท่วม และไม่สามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งของประเทศได้
หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นแบบในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของสเปนจะสูงถึง 15.84 องศาเซลเซียส ในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 1.43 องศาเซลเซียส
เมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ วันในฤดูร้อนจะเพิ่มขึ้น 22.7 วัน และคืนในเขตร้อนจะเพิ่มขึ้น 7.2 วันโดยเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2013-2022
ที่สำคัญภัยแล้งจะยังคงยาวนานขึ้นด้วย ส่งผลให้สภาพอากาศของสเปนเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในฤดูร้อนเป็นสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้งในบางส่วน และภายในปี 2050 สภาพภูมิอากาศแบบภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทราย และทะเลทรายเขตอบอุ่น จะกินพื้นที่ราว 40% ของสเปน และจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่สภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนโดยทั่วไป
ปี 2050 สเปนอาจร้อนจนอยู่ไม่ได้
ขณะที่ การวิจัยใหม่ของ NASA ระบุว่าภายในปี 2050 บางภูมิภาคบนคาบสมุทรไอบีเรียไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังรุนแรงแบบในปัจจุบัน
คอลิน เรย์มอนด์ นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ระบุว่า สเปนจะต้องพบกับช่วงเวลาที่ร้อนจัดบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น และต้องเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเป็นปกติ โดยที่ราบสูงเมเซตา ซึ่งเป็นที่ราบสูงตอนในของภาคกลางของสเปน เป็นที่ตั้งของกรุงมาดริด จะเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงพบกับความร้อนมากที่สุด โดยเรย์มอนด์เตือนว่าในอนาคตมาดริดอาจจะเจออากาศที่ร้อนทั้งปี และสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีกหากมีความชื้นไม่เพียงพอ และระดับน้ำที่ต่ำ
นอกจากนี้ แคว้นบาเลนเซียจะเป็นศูนย์กลางของสภาพอากาศร้อนจัด และสภาพอากาศเลวร้ายอีกแห่ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ภูมิภาคนี้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่นเดียวกับแคว้นอันดาลูเซีย เขตปกครองตนเองทางตอนใต้ ที่ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานกับความร้อนรุนแรงต่อไป
เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งละลาย ทำให้เมืองชายฝั่งในสเปนที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะจมน้ำจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยแคว้นกาตาลันจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมืองหลวงอย่างบาร์เซโลนาเสี่ยงต่อการจมน้ำ และท่วมน้ำ
ระดับน้ำทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรอบๆ บาร์เซโลนาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 13 เซนติเมตรภายในปี 2030 และเพิ่มขึ้นเป็น 43 เซนติเมตร ภายในปี 2070 ส่วนในปี 2100 น้ำจะขึ้นสูง 75 เซนติเมตร ภายในปี และเป็น 126 เซนติเมตร ภายในปี 2150 หากการคาดการณ์ถูกต้อง