หอการค้าไทย เผย บาทแข็งกระทบส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก จี้ให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนหนักจนเกินไป
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี และได้ยื่นสมุดปกขาว รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ประกาศ 10 นโยบายนั้น ซึ่งหลายมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ตรงกับข้อเสนอแนะแนวทางของหอการค้าไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของกลุ่มเปราะบาง จะทำให้เกิดการใช้จ่ายทันที มาตรการเร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบ และนอกระบบ โดยหอการค้าฯ มีแผนจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุย และหาแนวทางที่เหมาะสมในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมฝากถึงรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุน และก่อสร้าง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยหอการค้าฯ และเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุน และทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด
ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา เพราะเงินบาทแข็งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ทึ่ 34 บาทต่อดอลลาร์
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10 % อย่างรวดเร็ว และรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย จะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้า และบริการแพงขึ้นกว่าปกติ และอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่า และคุ้มค่ามากกว่านั้น
จากที่กล่าวมาเบื้องต้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ปกติ ดังนั้น ค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยโดยทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1.ขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร และประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10% ส่งผลให้ผู้ผลิต และแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า
2. การวางแผนการผลิต และการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิต และแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ความไม่แน่นอน และเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุน และการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนา และเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม
“หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายใน และต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ มีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน “นายพจน์ กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามาในประเทศ สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยส่วนนี้ได้มีการหารือ และอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในการติดตามดูแลสินค้าไทย-จีน และจัดทำโครงสร้างการค้าที่เป็นธรรมทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น
สำหรับประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากจะปรับขึ้นเท่ากันทั้งหมด แต่อยากให้เป็นไปตามมติ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้า มีความเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นค่าแรงควรเป็นปีหน้า ซึ่งโดยปกติแล้วมีการปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ปีนี้มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยว และบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับความกังวลของภาคเอกชนในการติดตามอัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP (ข้อมูล ณ 18 ก.ย. 67) (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน)
ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 18,226 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 3,260 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 91 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายจากระดับน้ำที่ลดลง ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ คือ การช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการ ทางการเงินช่วยเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8 – 4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2 – 0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6 – 2.8%