สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เผยวิธีการเตรียมความพร้อม ต้อนรับการผลิตทุเรียนคุณภาพในปี 2568 แนะให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน ก่อนสิ้นฤดูฝนประมาณ 1 เดือน งดการให้น้ำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 วัน ทำให้ต้นทุเรียนเกิดสภาพเครียด เพื่อชักนำการออกดอก
สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า การแข่งขันในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ ประเด็นที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพของทุเรียน ซึ่งทุเรียนที่มีคุณภาพดีย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพในการผลิตทุเรียนคุณภาพในฤดูกาลถัดไป 4 กิจกรรมใหญ่ๆ ที่จะบำรุงรักษาต้นทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่ดี ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ภายหลังการเก็บเกี่ยวทุเรียนดังนี้
การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก (ก.ค.-ต.ค.) แนะนำให้ มีการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มและตัดกิ่งแห้งหรือเป็นโรคออก เพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และให้แตกใบอ่อนอย่างน้อย 1 ชุด ควรมีการให้น้ำต้นทุเรียนเมื่อฝนทิ้งช่วงเกิน 7 วัน การป้องกันโรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคใบติด โรครากเน่าโคนเน่า เพลี้ยชนิดต่างๆ ไรแดง และหนอนเจาะลำต้นทุเรียน
การจัดการเพื่อให้ทุเรียนออกดอกและติดผลดี (พ.ย-ธ.ค) แนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน ก่อนสิ้นฤดูฝนประมาณ 1 เดือน งดการให้น้ำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 วัน ทำให้ต้นทุเรียนเกิดสภาพเครียด เพื่อชักนำการออกดอก ควรมีการป้องกันโรคและแมลงที่สำคัญ เช่น โรคดอกเน่า เพลี้ยไฟและไรแดง ในช่วงก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ ให้น้ำเพียง 1 ใน 3 ของการให้น้ำปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น
การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณคุณภาพและผลผลิต (ม.ค-เม.ย.) เกษตรกรควรตัดแต่งผลอ่อน ที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ผลเล็ก และหนามแดงออก จำนวน 1-3 ครั้ง ตั้งแต่ผลอายุ 4-8 สัปดาห์ และให้ปุ๋ยหลังการตัดแต่งผลครั้งสุดท้าย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของผล และคุณภาพเนื้อ หลังจากนั้นให้น้ำอัตราปกติหลังการติดผล 3 สัปดาห์ และลดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 สัปดาห์ ควบคุมการแตกใบอ่อนระหว่างการพัฒนาการของผล โดยพ่นปุ๋ยโปแตสเซียมไนเตรท (13-0-45) อัตรา 150-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ที่ใบอ่อนและระยะหางปลา ควบคุมการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่สำคัญได้แก่ โรคผลเน่า เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะผล และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวในสวน (พ.ค.-มิ.ย.) ดัชนีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมมีหลายวิธีการ ตั้งแต่การนับอายุผล โดยกระดุมทอง ไม่น้อยกว่า 80 วันหลังดอกบาน ชะนี ไม่น้อยกว่า 100 วันหลังดอกบาน หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 110 วันหลังดอกบาน นอกจากนั้นยังสามารถสังเกตก้านผล จะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะสากมือ สังเกตรอยแตกระหว่างพู เป็นรอยแผลสีน้ำตาลเห็นได้ชัดเจน การชิมปลิง เมื่อตัดขั้วผล จะมีน้ำใสรสชาติหวาน การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม จะมีเสียงดังหลวมๆ ของช่องว่างภายในผล ข้อสำคัญ ห้ามวางทุเรียนบนพื้นดินในสวนโดยตรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคผลเน่า
คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจทุเรียนก็คือ ควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ตัดทุเรียนอ่อน เพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันได้ ในส่วนของการคัดบรรจุ ต้องเข้มงวดตามมาตรการต่างๆ ที่กรมวิชาการเกษตรวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในการส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของไทย