ค้นหา

ระวัง หนอนหัวดำมะพร้าว ในมะพร้าว

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 129 ครั้ง

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือหนอนหัวดำมะพร้าวระยะหนอนเท่านั้นเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบจากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายทางใบหลาย ๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1 – 2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

กรณีที่พบการระบาดปานกลางและระบาดน้อยของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ 1. ทำการเขตกรรม โดยการตัดทางใบส่วนที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลาย ลงมาย่อยสลาย ฝังกลบ หรือจมน้ำทันที เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ลดจำนวนประชากรของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ง่ายและเร็ว 2. ใช้แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซีส Bacillus thuringiensis อัตรา 80 – 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ 5 ลิตรต่อต้น ทุก ๆ 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง 3. ปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัส Goniozus nephantidis ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง หรือปล่อยแตนเบียนบราไคมีเรีย Brachymeria nephantidis (แตนเบียนดักแด้หนอนหัวดำมะพร้าว) ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 120 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง กรณีที่พบการระบาดรุนแรง ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัดต้นที่สูงน้อยกว่า 4 เมตร 1. การพ่นสารทางใบ ใช้สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (พิษสูงต่อผึ้ง) หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (พิษสูงต่อกุ้ง) พ่น 1 -2 ครั้ง ให้ทั่วทรงพุ่ม จะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้ 2. การฉีดสารเคมีเข้าลำต้น โดยเลือกใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ต้นมะพร้าวความความสูง 4-12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อต้นต้นมะพร้าวที่สูงเกิน 12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว โดยใช้ดอกสว่าน 3 – 4 หุน เจาะรูให้เอียงทำมุม 45 องศา จำนวน 1 -2 รู ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 0.5 – 1 เมตร หลังใส่สารใช้ดินน้ำมันตัดให้ได้ขนาดประมาณ 1 ลูกบาศ์นิ้ว อุดตรงรูทันที เพื่อป้องกันแรงดันที่จะทำให้สารไหลย้อนออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำได้นาน 90 วันไม่แนะนำในมะพร้าวความสูงน้อยกว่า 4 เมตร

ระวัง ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ในมะพร้าว

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่

มักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก ด้วงงวงมะพร้าวก็สามารถเจาะส่วนที่อ่อนของมะพร้าวเพื่อวางไข่ได้ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายใน ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ทำลาย ควรตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่าจับหนอนทำลาย 2. ไม่ควรให้ต้นมะพร้าวเกิดแผลหรือปลูกโคนลอย เพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นมะพร้าวได้ หากลำต้นเป็นรอยแผล ควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง เพื่อป้องกันการวางไข่ 3. ป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวนมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และเมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนของด้วงงวงมะพร้าวก็จะเข้าไปทำลายในต้นมะพร้าวได้ง่ายขึ้น


ระวัง โรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora) ในทุเรียน

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า  เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะ  เตรียมต้น (ระยะการเจริญทางใบ) รับมือโรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora)

อาการที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก จะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ระยะแรกจะเห็นทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อย ๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลืองบริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก 2. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ 3. หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น 4. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดดินในหลุมและบริเวณโดยรอบ ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จึงปลูกทดแทน 5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1 – 2 ครั้ง ทุก 7 – 10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน 6. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง 7. เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 8. เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 – 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรคหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค 9. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค


ระวัง หนอนผีเสื้อเหยี่ยวลายลูกกวาดใหญ่ ในอ้อย

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า  เตือนผู้ปลูกอ้อย ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือหนอนผีเสื้อเหยี่ยวลายลูกกวาดใหญ่

หนอนจะอยู่บริเวณเส้นกลางใบหรือลำต้นในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะไต่ขึ้นกัดกินทำลายส่วนใบและยอดอ่อน สังเกตรอยทำลายได้จากปลายใบที่โดนหนอนกัดกิน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ วางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนใบและใต้ใบพืช หนอนโตเต็มที่มีขนาด 5.5 – 8.0 เชนติเมตร ลำตัวสีเขียวหรือชมพู มีแถบสีขาวด้านข้างลำตัว 2 แถบ และมีแถบสีเข้มกลางหลัง 1 แถบ เข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ประมาณ 1 เดือน หรือสามารถอยู่ในดินได้หลายเดือนจนกว่าสภาพแวดล้อมหมาะสม จึงฟักออกเป็นตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ไถพรวนและตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดระยะดักแด้ที่อยู่ในดิน 2. หมั่นสำรวจแปลงหากพบไข่หรือตัวหนอนให้เก็บและทำลายทันที 3. การใช้สารกำจัดแมลง (อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมในพริก) เช่น อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 – 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 5% WG อัตรา 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือ เดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 3A) หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22A) **** แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ห่างกันทุก 7 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง และหมุนเวียนสารตามกลไกการออกฤทธิ์ ไม่พ่นซ้ำกลุ่มเดิมในรอบ 30 วัน เพื่อชะลอความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง


ระวัง โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis) Pseudoperonospora cubensis ในพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ)

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ) ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis)

มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกบนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำ แผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นเป็นรูปเหลี่ยมเล็ก ๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาที่แผลบริเวณด้านใต้ใบ แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค 2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม 3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง 4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี 5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคเซบ 8% + 64% WP อัตรา 30 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน 6. แปลงที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น 7. แปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://at.doa.go.th/ew/index.php