ค้นหา

กรมพัฒนาที่ดิน เร่งช่วยเหลือเกษตรกร ฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลด

กรมพัฒนาที่ดิน
เข้าชม 62 ครั้ง

 กรมพัฒนาที่ดิน ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยบูรณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน ให้คำแนะนำจัดการดิน พืช และน้ำหลังน้ำลด เตรียมพร้อมสนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด. เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ช่วยบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็น


นายปราโมทย์  ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากการเกิดอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมพัฒนาที่ดิน ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเพื่อฟื้นฟูดินและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความผลกระทบดังนี้ ในสถานการณ์ประสบอุทกภัย ให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตและสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดประเมินสถานการณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบอุทกภัยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลจัดการดิน พืช และน้ำ ภายหลังน้ำลดให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และชนิดพืช รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับหมอดินอาสา เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย สำหรับพื้นที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว เกษตรกรควรรีบทำการระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด ปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ในกรณีพื้นที่น้ำท่วมขังแปลงนาจนต้นข้าวเน่าตาย หรือบ้านเรือนชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมืองมีน้ำนิ่งท่วมขัง อาจทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดลูกน้ำและยุงรำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยประชาชน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารบำบัดน้ำเสีย สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายขยะสด ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือนสำหรับสวนไม้ผล ให้ทำทางระบายน้ำให้น้ำไหลออก ห้ามนำเครื่องจักรหนักเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ และห้ามเข้าเหยียบย่ำโคนต้นไม้ เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่ายทำให้ดินขาดอากาศต้นไม้เกิดการทรุดโทรม ถ้าต้นไม้จะล้มให้ทำไม้ค้ำยัน เมื่อดินแห้งแล้วให้พรวนดินเพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้นหากพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา แนะให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดี และให้มีการพักดินในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสักระยะหนึ่งซึ่งการพักดินเป็นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีหนึ่ง โดยอาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า เป็นต้น

ในสถานการณ์หลังน้ำลดหรือหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือและกำหนดแนวทางโดยให้สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่ของเกษตรกร/หมอดินอาสาที่ได้รับความเสียหาย เพื่อปรับพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้โดยเร็วที่สุด กำหนดแนวทางให้ความรู้ทางวิชาการการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ให้คำแนะนำการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่าง ๆ เมล็ดปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพ ในการช่วยบำรุงฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลง รวมทั้งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรตามชนิดพืชที่ปลูก โดยกรณีที่นาข้าวได้รับความเสียหายทั้งแปลง ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ราดเพื่อให้ตอซังย่อยสลายได้เร็วขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถเตรียมพื้นที่ในการทำนาในฤดูกาลต่อไปได้ และส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน หรือผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมสำหรับในพื้นที่ไม้ผล แนะนำให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ลดปัญหารากเน่าโคนเน่า ส่วนในพื้นที่พืชไร่ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดให้ปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งนี้ เมื่อน้ำลดลงไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นาข้าว พืชไร่ ไม้ผล มีความจำเป็นต้องทำการปรับสภาพพื้นที่ และเร่งปรับปรุงฟื้นฟูดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว โดยทั้งหมดนี้ คือ แผนฟื้นฟูที่กรมพัฒนาที่ดินเร่งให้การช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย เพราะมุ่งหวังที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และสร้างการรับรู้การจัดการดิน รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ และสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 บำบัดน้ำเสีย และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพสารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่าง ๆ ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/328782