ค้นหา


จุดยืนไทยต่อเวทีโลกเดือด COP29

กรีนพีซ ประเทศไทย
เข้าชม 79 ครั้ง

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาติดอันดับท็อปเท็นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว   EM-DAT  รายงานข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และสร้างความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.82% ของ GDP

การคาดการณ์อนาคตโดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศระบุว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 3 แต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 13 แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยคิดเป็นประมาณ 1% ของทั้งโลก แต่จากรายงาน Carbon Majors ชี้ให้เห็นว่า บริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลของไทยจัดอยู่ในอันดับ 96 จากจำนวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด 122 แห่งของโลก

ก่อนการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 16 (CBD COP16) ณ ประเทศโคลอมเบีย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ต.ค.-1 พ.ย. 2567 และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 (COP29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน วันที่ 11-22  พ.ย. 2567  มีเสียงเรียกร้องรัฐบาลแพทองธารให้แสดงท่าทีให้ชัดเจน  โดยเครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตรวมตัวกันกว่า 200 คน บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก และส่งตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC Executive Secretary) ระบุการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)  ต้องยึดหลักความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ในการก่อโลกเดือดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวย โดยการชําระคืนหนี้นิเวศให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจนในซีกโลกใต้

วันเดียวกันเครือข่ายโลกร้อนและกรีนพีซเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)   นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย กางป้ายผ้า ข้อความ “People Before Profit – หยุดฟอกเขียวยักษ์ใหญ่คาร์บอน ” ที่อาคารสำนักงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องรัฐบาลยุติการฟอกเขียวให้กับยักษ์ใหญ่คาร์บอน

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลไทยจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้คนในประเทศและประชาคมโลก เพื่อสอดประสานอนุสัญญา 2 ฉบับนี้เข้าด้วยกันว่าจะเลือกความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาวะของประชาชน หรือการล่มสลายทางนิเวศวิทยาจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมอาหาร/เนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่ปัดภาระรับผิดต่อผลกระทบจากโลกเดือดและมลพิษในระดับพื้นที่ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“แทนการเปิดประตูให้กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตร/เนื้อสัตว์รายใหญ่ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติทำการฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดคาร์บอน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องสร้างบทบาทนำในอาเซียนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) เพื่อฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตจากวิกฤตโลกเดือด“ ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย  กล่าว

กรณีกลไกคาร์บอน ฟอกเขียวทุนผูกขาด  เป็นใบอนุญาตเพิ่มอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น ดร.สุรินทร์ อ้นพรหม นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปี 2566 ทส. ได้ทำ MOU กับบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ เพื่อหาพื้นที่ป่า 3 ล้านไร่ เพื่อให้บริษัทนี้ปลูกป่า จากข้อมูลของบริษัทปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40 ล้านตัน จาก 7 บริษัทในเครือ การจัดหาป่าป้อนให้เอกชนเป็นการอุ้มทุนเพื่อให้สามารถปล่อยก๊าซต่อไปได้  เพราะใช้กลไกชดเชยคาร์บอนเครดิตโดยไม่ต้องลดที่แหล่งกำเนิด  มีคำถามถึงความเป็นธรรมต่อประชาชน พื้นที่ป่ามาจากป่าธรรมชาติ อีกส่วนมาจากพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ประชาชน  ทส.สั่งการให้ออกระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เท่ากับสร้างความชอบธรรมให้เอกชนนำคาร์บอนเครดิตจากป่ามาชดเชยการปล่อยก๊าซของตัวเอง

นักวิชาการอิสระย้ำกลไกลักษณะนี้หลอกลวงระบบนิเวศ กระทบป่าบก ป่าชายเลน  ซึ่งกลไกเหล่านี้รวมอยู่ในกฎหมายโลกร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น  ต้องมีการทบทวนร่างกฎหมายและหยุดกลไกดังกล่าว เพราะผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตกกับชาวบ้าน  เราต้องไม่ติดกับดักค่าตอบแทนจากการซื้อขายคาร์บอน เพราะโครงการคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นได้จากบริษัทจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชน ก่อนไปจดทะเบียน T VER  นี่คือ สิ่งล่อ หากดูดีๆ ดูเหมือนเงินเยอะที่เข้าชุมชน แต่ควรเป็นหน้าที่รัฐสนับสนุนให้ชุมขนสามารถจัดการป่าได้หลังจัดตั้งหรือส่งเสริมกลุ่มบริหารจัดการ แต่กลไกคาร์บอนที่เอาเงินของนายทุน สามารถนำไปค้ากำไร ขายต่อในอนาคตได้อีกด้วย  

“ เราไม่ควรประนีประนอมกับกลุ่มทุนให้แย่งยึดที่ดิน ตักตวงผลประโยชน์ในนาม คาร์บอนเครดิต ฝากถึงพรรคการเมืองและภาคนโยบายในการสร้างกลไกตลาดแบบมีเงื่อนไข เช่น กำหนดระยะเวลา 10 ปี ให้ชดเชยได้ หลังจากนั้นไม่อนุญาตให้ชดเชย ซึ่งกลุ่มทุนสามารถสร้างกำไรมหาศาล สามารถหาแหล่งคาร์บอนราคาถูก หรือย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านก็ยังได้ เราจำเป็นต้องยืนยันหลักการไม่ยินยอมกลไกซื้อขายคาร์บอน  หนทางเดียวรัฐต้องออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุน ไม่ใช่อนุญาตให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เราขอส่งเสียงไปยังกลุ่มคนที่ยังนิ่งเฉยกับการฟอกเขียวของทุน อยากให้ตระหนักว่า คาร์บอรเครดิตที่ได้จากการชดเชยแลกกับความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่  “ ดร.สุรินทร์ กล่าว

ปิยะดา เด็นเก ตัวแทนเครือข่ายอันดามัน กล่าวว่าภาคใต้มีป่าชายเลน10 ปีที่ผ่านมา มีการทวงคืนผืนป่าจากนากุ้ง  ช่วยกันฟื้นฟูดูแลป่าชายเลน รวมถึงมีการปลูกเสริม โดยชุมชนและเยาวชน  แต่สุดท้ายอยู่ๆ กลับนำป่าชายเลนมาหนุนเสริมกลไกคาร์บอนเครดิต จะสร้างความแตกแยกในชุมชน เกิดผลกระทบใหญ่หลวง ป่าชายเลนที่ชาวบ้านร่วมดูแล กลุ่มทุนกลับได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ปลูกป่า  ทั้งที่เป็นต้นเหตุทำให้โลกเดือด ไม่อยากให้ปัดความรับผิดชอบ ประชาชนคนตาดำๆ เดือดร้อน แม้สัญญาไม่ห้ามชาวบ้านเก็บหาของป่า แต่ห้ามทำกิจกรรมกระทบคาร์บอนเครดิตในป่า ชุมชนไม่มีหลักประกันจะพึ่งพาป่าตามวิถีชีวิตได้เหมือนเดิมหรือไม่ ชาวบ้านกังวล

“ ข้อเสนอจากชุมชน เราตระหนักกระบวนการคาร์บอนเครดิตไม่สามารถลดโลกร้อนได้  แต่เพิ่มปัญหาและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่สังคม ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบโดยตรง กระบวนการของรัฐไม่มีธรรมาภิบาลแก่สังคม ต้องคืนป่าให้ชุมชน  ขอให้ยกเลิกกฎหมายโลกร้อนทุกฉบับ  ยกเลิกคาร์บอนเครดิต และควรสนับสนุนชุมชนรักษาป่าดีกว่าซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และสร้างกระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชนเรื่องคาร์บอนเครดิตและตลาดคาร์บอน จะได้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อกลุ่มทุน เวลาคนคัดค้านกลับถูกด่าว่า โง่ บอกให้รับเงินไปก่อน   “ ปิยะดา กล่าว

ด้าน ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนขบวนสภาชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น กล่าวว่า วิกฤตโลกเดือด คือ การก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ แต่กลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง นโยบายการจัดการเมืองที่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นด้วย สิ่งที่รัฐบาลต้องปรับตัวคือ ยกเลิกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่สั่งให้คนตัวเล็กต้องปรับตัวโดยที่บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบ คาร์บอนเครดิตสัมพันธ์โดยตรงกับการแย่งยึดพื้นที่ของคนจน รัฐบาลต้องหยุดส่งเสริมคาร์บอนเครดิต และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ส่งเสริมสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชุมชนท้องถิ่น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipost.net/news-update/676859/