ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิด ส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ต้องติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษและวางแผนทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเหมาะสม
ล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ“มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด
การปฏิบัติการ ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
มีการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
ส่วนการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง ส่วนหมอกควันข้ามแดนจัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากหน่วยงานรัฐขยับแล้ว เหล่านักวิชาการและนักอนุรักษ์เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เปิดเวทีระดมความคิดพร้อมรับมือวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สร้างความเข้าใจ สู่การแก้ไขอย่างยั่งยืน จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันก่อน
ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ไฟป่าเกิดผลกระทบกับผืนป่า ปี 2566 จุดเกิดไฟป่าข้ามจากภาคเหนือมาภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเทศแล้ว 70,000 กว่าจุด พื้นที่เสียหายจากไฟป่ากว่า 200,000 แสนไร่ สำหรับผืนป่าตะวันตก ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เขื่อนศรีนครินทร์ เกือบแสนไร่ ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ ไม่ใช่เกิดจากพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น จะมีแผนจัดการไฟป่าหมอกควันเฉพาะภาคใดภาคหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพรวมทั้งหมด ปัญหาไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ขาดการจัดการ วางแผน และควบคุมที่ดี แต่ก็ไม่อยากให้มองให้ไฟไปตัวร้าย เกิดผลกระทบอย่างเดียว ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ มีการปรับตัวตามธรรมชาติ อยู่ร่วมกับไฟ และเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า หลังไฟดับ ทิ้งใบ เกิดยอดอ่อน และไม้พื้นล่าง เป็นอาหารของสัตว์ป่าในพื้นที่ พื้นที่ที่ไม่เคยมีไฟเข้าเลย จะเกิดการสะสมเชื้อเพลิง หากขาดการบริหารจัดการที่ดี ช่วงฤดูไฟอาจก่อให้เกิดมหันตภัยไฟป่ารุนแรง
ประเด็นสำคัญไฟในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นเรื่องบริหารจัดไฟที่ต้องหาทางจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ประธานมูลนิธิสืบฯ ยกตัวอย่างกรณีไฟป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อปี 62 ปกติไม่มีไฟป่าพื้นที่ด้านบน เพราะเป็นป่าดิบเขา แต่เป็นครั้งแรกที่เกิดไฟป่ารุนแรงลามจากด้านล่างขึ้นไปถึงยอดดอยหลวง กระทบพันธุ์พืชและสัตว์ที่ไม่ควรถูกไฟ เพราะขาดการจัดการที่ดี นอกจากนี้ สถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ปี 2566 ป่าลดลง 3 แสนกว่าไร่ สูงสุดในรอบ 10 ปี ปัจจัยสำคัญมาจากไฟป่า สูญเสียระบบนิเวศ และมีการใช้ประโยชน์จากประชาชน
“ การจัดการไม่ให้ไฟเกิดในพื้นที่ไม้ผลัดใบอย่างป่าเต็งรังก็มีผลกระทบ พบว่า สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลง เกิดการแย่งชิงของพันธุ์ไม้ในบริเวณอื่น สัตว์ป่ากระทบต้องเคลื่อนย้ายหาแหล่งอาหารอื่น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ฉะนั้น การจัดการไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นพิเศษ ต้องพิจารณาร่วมกัน ทำงานเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เกิดการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ แต่ถ้าแก้แบบแยกส่วน จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รัฐบาลเพิ่งประกาศมาตรการรับมือฝุ่นควันปี 2568 มุ่งเน้นเชิงกิจกรรม ควบคุมไม่ให้เผาป่า จัดการพื้นที่เกษตร คุมมลพิษที่เมือง แต่ไม่ได้มองการแก้ปัญหาระยะยาว “ ภาณุเดช กล่าว
ปัญหาคาราคาซังที่เกิดขึ้นขิงการจัดการหมอกควันและฝุ่นพิษ เดโช ชัยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) กล่าวว่า หลังถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลควบคุมไฟป่า จำนวน 2,368 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ประมาณ 50 ล้านไร่ แต่อปท. ไม่มีแผนงานและการจัดการใดๆ ไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ ขาดองค์ความรู้ควบคุมไฟป่า ชิงเผา ปีนี้รัฐให้งบอุดหนุน 50 ล้านบาท เท่ากับไร่ละ 1 ล้านเท่านั้น แต่อยากให้ท้องถิ่นมีบทบาท เปรียบเสมือนหลุมดำ นี่คือ โจทย์ใหญ่ ซึ่งมูลนิธิฯ ทดลองจัดการเชื้อเพลิงร่วมกับชาวบ้านในตำบลแม่ทาของ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 70,000 ไร่ มีแผนชัดเจน จับพิกัดพื้นที่ชุมชนยืนยันต้องเผาจากนั้นขีดเส้น รวม 1,000 ไร่ มีการบริหารจัดการ เผาแบบไหน ช่วงเวลาใด ลดผลกระทบอย่างไรกรมป่าไม้ ข้อตกลงไม่ให้เกิดไฟนอกขอบเขตชิงเผา กรมอุทยานฯ รับรองในแผนนี้ เปลี่ยนการลักลอบจุดเป็นเผาร่วมกันโดยมีขอบเขต เป็นอีกโมเดลน่าสนใจ เป็นปัญหาใหญ่เกินกำลังเจ้าหน้าที่รัฐจะจัดการได้ด้วยตนเอง ทิศทางนโยบาย กฎหมาย ต้องเพิ่มการสนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วมทางตรงมากขึ้น จะต้องขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ เกิดคุณภาพสูงขึ้น
“ ส่วนป่าชุมชน 7 ล้านกว่าไร่ 13,000 กว่าหมู่บ้าน ต้องขับเคลื่อนป่าชุมชนอย่างเข้มข้น สร้างความยั่งยืนรอบด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไฟป่า แผนจัดการไฟป่าในป่าชุมชนที่ดีใครจะช่วยชุมชนจัดทำ หากทำได้ดีสามารถเชื่อมโยงกลไกคาร์บอนเครดิต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถเฝ้าระวังไฟป่าของชุมชน อีกปัญหาที่เกิดขึ้นความล่าช้าในการการแก้ปัญหาที่ดินในเขตป่า ทำให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว หวังผลกำไรระยะสั้น ไม่ต้องเสี่ยง จะเปลี่ยนเป็นวนเกษตรก็ไม่ได้ เพราะการทำระบบน้ำต้องขออนุญาตเพราะเป็นป่าอนุรักษ์ ต้องแก้เรื่องที่ดินให้รวดเร็ว จะตอบสนองเรื่องสิทธิและคุณภาพชีวิต “
ส่วนผลกระทบฝุ่นจิ๋วต่อสังคม ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยติดอันดับที่ 5 เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แหล่งกำเนิด PM2.5 มีหลากหลาย มีการศึกษาจ.เชียงราย แหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากการเผาในที่โล่ง ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่นจากอุตสาหกรรมและถ่านหิน และการจราจร ที่น่าสนใจ จ.เชียงใหม่ ฤดูหมอกควัน ฝุ่นละอองมาจากแม่สาย อีกฝั่งเคลื่อนตัวมาจากอินเดีย เราพบความหลากหลายจากการศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่นและการรายงาน แต่ละปีต่างกัน ทำให้การจัดการหมอกควันและฝุ่นไม่ประสบผลสำเร็จ ในจีนมีรายงานคนรวยปล่อย PM2.5 มากกว่าคนจน ปล่อยจากอาหารและที่อยู่อาศัย แต่คนจนเผชิญความเสี่ยงผลกระทบมากกว่า ยุโรปก็มีรายงานคนมีเงินมากเสี่ยงน้อย
“ ผลกระทบฝุ่นสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ พบอาชีพพนักงานกวาดถนนมีความเสี่ยงอันตรายฝุ่นพิษ กทม.จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการหรือการจัดการเพื่อให้มีความเท่าเทียม ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเห็นได้จากคนเมืองมีโอกาสรับรู้ฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มากกว่าคนบนดอย ทั้งรับรู้ด้วยตา แอปพลิเคชั่น แต่ยังพบมอเตอร์ไซดรับจ้างส่วนใหญ่มีการรับรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ถูกต้อง เสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ คนบนพื้นที่สูงเคยชินกับปัญหาฝุ่น นี่คือ โจทย์ท้าทายจะเติมเต็มความรู้อย่างไร จะสื่อสารเรื่อง PM2.5 ให้มีประสิทธิภาพอย่างไร อีกทั้งพบความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การนำเข้าเครื่องฟอกอากาศสูงขึ้น คนจนเข้าไม่ถึงหน้ากากไม่มีประสิทธิภาพกันฝุ่นพิษ คนจนคนรวยศักยภาพต่างกัน นี่คือ กับดักรายได้ การสร้างแนวทางแก้ปัญหาต้องเชิญคนกลุ่มน้อยแต่มีผลกระทบสูงเข้าร่วมหาทางออก มีตัวอย่างการจัดการฝุ่นของสหรัฐ แบ่งเป็น 3 ระดับ ควบคุมระดับพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิด กฎหมายควบคุม พบว่าการควบคุมระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด “ ดร.สุรพล กล่าว