ค้นหา

อย.แจงสารตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย บริโภคได้ 

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
เข้าชม 62 ครั้ง

อย. แจงสารตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” มีเพียง 1 ตัวอย่างพบคลอร์ไพริฟอส สารในกลุ่มวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กฎหมายห้ามใช้ ส่วนอีก 23 ตัวอย่างมีสารปนเปื้อนจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนด หากล้างถูกวิธีสามารถรับประทานได้

ตามที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจ องุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรมากกว่า 400 ชนิด  พบสารเคมีเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 95.8 โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยกระดับการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักผลไม้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้น

ล่าสุดวันที่ 25 ตุลาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า จากข่าวที่ระบุพบมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 50 รายการใน 24 ตัวอย่าง โดยข้อเท็จจริงแล้วผลการตรวจพบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืช 36 รายการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีความปลอดภัย ส่วนสารกำจัดศัตรูพืช อีก 14 รายการ เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งผลการตรวจพบเกินเพียงเล็กน้อย จึงสามารถรับประทานองุ่นไชน์มัสแคทได้ แต่ควรล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว

ล้างให้ถูกวิธี..กินได้

ทั้งนี้ กรณีล้างด้วยน้ำเปล่า ให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหล ถูลูกองุ่นไปมาเบาๆ ล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 30 วินาที  กรณีล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู/เบคกิ้งโซดา) ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำสะอาด 4  ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด กรณีล้างด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

“การสื่อสารเป็นข่าวออกไปนั้น พบว่าบางข่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสารปนเปื้อนที่พบในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท โดยทั้งหมด 24 ตัวอย่างที่ไทยแพนสุ่มตรวจนั้น มี 1 ตัวอย่าง ที่พบสารในกลุ่มวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ สารคลอร์ไพริฟอส เป็นสารที่ถูกแบนห้ามใช้ในประเทศแล้ว ส่วนอีก 23 ตัวอย่างนั้น พบว่ามีสารปนเปื้อนจริง โดยมีทั้งสารที่ถูกกำหนดในรายการเฝ้าระวังและไม่มีในรายการต้องเฝ้าระวังตามมาตรฐานสากล” นพ.สุรโชค กล่าว

สารปนเปื้อนไม่เกินค่าความปลอดภัย

เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า   สารปนเปื้อน 36 รายการที่ตรวจพบนั้น อยู่ในค่าที่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หมายความว่า พบจริงแต่อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย  ส่วนกรณีที่ระบุว่าพบสารปนเปื้อนที่มีการดูดซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นไชน์มัสแคท แล้วล้างสารออกยากนั้น ข้อเท็จจริง คือ สารบางชนิดเป็นสารที่ถูกใช้ในระหว่างการปลูก ทำให้ต้นไม้ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสารนั้นดูดซึมเข้าไปในผลไม้ ดังนั้น การล้างผลไม้ก่อนรับประทานตามวิธีที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทานได้

เมื่อถามย้ำว่าองุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายในตลาดสามารถซื้อมาทานได้หรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ยืนยันว่า สามารถทานได้ เนื่องจากสารปนเปื้อนที่ตรวจพบนั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย

ถามต่อว่ากรณีที่ไทยแพนระบุว่ามีองุ่นไชน์มัสแคท ที่ไม่สามารถระบุที่มาได้นั้น จะมีความปลอดภัยหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ อย. มีการสุ่มตรวจตัวอย่างผลไม้ที่เข้ามาผ่านกองด่านอาหารและยา ซึ่งการนำเข้าหลัก ๆ จะมี 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยแรกเริ่มการนำเข้ามาจะมีบรรจุภัณฑ์ที่ระบุที่มาชัดเจน แต่เมื่อมีการแยกไปจำหน่ายแบบปลีกตามตลาดทั่วไป ผู้ค้าบางรายที่ไม่ได้ทำบรรจุภัณฑ์ ก็จะไม่สามารถบอกที่มาได้ แต่ถ้าเป็นห้างใหญ่ ๆ ที่ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ แล้วติดฉลากก็จะทราบที่มาได้

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผักผลไม้นำเข้าเชิงรุก โดยหากพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนด จะถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้และถูกดำเนินคดี และในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

ไทยแพนพบตัวอย่าง องุ่นไชน์มัสแคท ปนเปื้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ได้แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคททั่วกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ทัศนีย์ แน่นอุดร  บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มีพันธกิจเฝ้าระวังคุณภาพสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ฉลาดซื้อได้รับคำถามและข้อเสนอจากผู้บริโภคว่า องุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้ มีโปรโมชันและการเชิญชวนให้ซื้อมากๆ เช่น การลดราคาหรือการแถมแบบ  ซื้อ 1 กล่องแถม 1 กล่อง เป็นต้น  อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายไปทั่ว ทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้างหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงชวนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มาร่วมกันตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท  โดยเก็บตัวอย่าง  24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล     

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อธิบายถึงกระบวนการวิเคราะห์และแปลผลว่า เราได้ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้ง 24 ตัวอย่าง ไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ ซึ่งได้การรับรอง ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช    โดยข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท  อาทิ  95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณี

1) องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว

2) องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg)   

3. พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน  2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆภายใต้กฎหมายไทย  

4. จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย

5. องุ่นไชน์มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.hfocus.org/content/2024/10/32050