ค้นหา

“เกษตรวิชญา” ธนาคารอาหารชุมชนที่เบิกถอนได้ตลอดปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 35 ครั้ง

ธนาคารอาหารชุมชน “เกษตรวิชญา” แหล่งอาหารและเครื่องใช้ ที่เบิกถอนได้ตลอดปี การพัฒนาตามพระราชดำริ เพื่อสุขแห่งพสกนิกร

เกษตรวิชญา  หมายถึง ปราชญ์แห่งการเกษตร คือชื่อของศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ตั้งอยู่ที่ บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วันนี้ได้ก่อเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประชาชนในพื้นที่ ในการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งในอดีต

ปฐมบทแห่งการพัฒนาตามพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มายังพื้นที่บ้านกองแหะ และทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ได้แนวทาง หรือวิธีการที่เหมาะสมต่อการเกษตร เลือกพืชปลูกให้เหมาะสม กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

จากความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อสนองพระราชดำริ โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลัก ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะของคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรูปแบบศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โดยในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พัฒนาพื้นที่จำนวน 123 ไร่ ในปี พ.ศ. 2546  ภายใต้โครงการธนาคารอาหารชุมชน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการเกษตรวิชญา
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.  กล่าวว่า นับมาถึงวันนี้ เป็นเวลารวม 21 ปี ที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการพัฒนาโดยเน้นหลักของการมีส่วนร่วม และในปี พ.ศ. 2561 ส.ป.ก. ได้ขับเคลื่อนงานในรูปแบบ4 ประสาน คือ ส.ป.ก. โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านกองแหะ และชุมชนบ้านกองแหะ ดำเนินงานสนองพระราชดำริด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการดำเนินโครงการธนาคารอาหารชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักคิด และแนวทางในการดำเนินการ เช่น  การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้ผล พืชอาหาร และพืชสมุนไพร จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเกษตรวิชญา

“นอกจากฟื้นฟูพืชพันธุ์ที่มีอยู่เดิม ส.ป.ก.ยังสนับสนุนองค์ความรู้และปัจจัยการผลิตต่าง ๆเพื่อให้ราษฎรบ้านกองแหะได้มีการเพาะพันธุ์ไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ไผ่ สตรอเบอรี่ และอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายในการผลิต ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการสร้างรายได้ ที่เน้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของตลาดนำการผลิต” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว

จากความทุ่มเทดำเนินการ วันนี้ ธนาคารอาหารชุมชน ได้ช่วยให้ราษฎรของบ้านกองแหะ มีแหล่งอาหารจากป่า มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือใช้สอยประเภทต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดปี ทั้ง 12 เดือน

“จากการดำเนินงานของส.ป.ก.ภายใต้โครงการธนาคารอาหารชุมชน ได้ช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งอาหารทางธรรมชาติของชุมชน (Food Bank) และเกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในการรักษาโรคและบำรุงร่างกาย อีกทั้งเกษตรกรได้นำพันธุ์ไม้ พันธุ์พืชสมุนไพรในธนาคารอาหารชุมชน ไปขยายพันธุ์เพาะปลูกใช้ในครัวเรือนของตนเอง” ดร.วิณะโรจน์ กล่าว

สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากธนาคารอาหารชุมชนนั้น ดร.วิณะโรจน์ กล่าวโดยสรุปว่า ราษฎรบ้านกองแหะ สามารถใช้ประโยชน์จากพืชพันธุ์ไม้ที่เติบโตในพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย  ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ โดยในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ จะสามารถตัดไผ่ข้าวหลามมาใช้ประโยชน์ เพื่อทำข้าวหลามไว้เพื่อการบริโภค ขณะที่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีไผ่บงให้เก็บมาใช้ประโยชน์ในการจักตอกเพื่อการเกษตร ขณะที่ไผ่หวาน ไผ่ไร่ ไผ่ซาง และไผ่หก มีให้ใช้ประโยชน์กับภาคการเกษตรของราษฎรแต่ละคนได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ยังมีแหล่งพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือน อันประกอบด้วยฟืน และกิ่งไม้แห้ง สามารถรวบรวมได้มากในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ราษฎรบ้านกองแหะ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการหุงต้มในครัวเรือน

ด้านอาหารจากธนาคารอาหารชุมชน ประกอบด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติที่หลากหลาย และที่สำคัญปลอดภัยจากสารเคมี ด้วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตลอดทั้งปี ทั้งพืชผัก และพืชสมุนไพรท้องถิ่น อาทิ ชะอม มะเขือพวง ผักเผ็ด ผักกูด หัวปลี รวมถึงสาหร่ายน้ำจืด หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า เทาน้ำ เป็นต้น

แต่ที่เป็นของขึ้นชื่อ คือ หน่อไม้และเห็ดป่าชนิดต่าง ๆ ที่เป็นทั้งอาหารและรายได้ มีให้ราษฎรบ้านกองแหะได้เก็บมากในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนของทุกปี และที่ขาดไม่ได้ถือเป็นอาหารยอดนิยม ปีหนึ่งมีช่วงเดียว คือ ช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน นั่นคือ หนอนไม้ไผ่หรือรถด่วน อาหารสุดอร่อยของหลาย ๆคน

นอกจากพืชผัก สมุนไพรแล้ว ผลไม้จากป่า นับเป็นอีกประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม สามารถเก็บผลไม้แสนอร่อยอย่าง มะเม่า มะไฟ มะแฟน คอแลน บริโภคได้ตามต้องการ ขณะที่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม มีผลมะขามป้อมให้เก็บทานได้อีกชนิด

 ความอุดมสมบูรณ์แห่งป่า ได้นำมาซึ่งความสมบูรณ์แห่งอาหาร คือความสำเร็จจากการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย ส.ป.ก. ภายใต้ ธนาคารอาหารชุมชน“เกษตรวิชญา” ที่นำมาซึ่งความสุขให้กับพสกนิกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน…… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_188282?utm_source=izooto&utm_medium=on_site_interactions&utm_campaign=Exit_Intent_Recommendations

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_188282?utm_source=izooto&utm_medium=on_site_interactions&utm_campaign=Exit_Intent_Recommendations