ค้นหา

เตือนการระบาดศัตรูพืชเรื่องหนอนชอนใบมังคุด

กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 39 ครั้ง

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในภาคตะวันออกของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของหนอนชอนใบในมังคุดในระยะที่ต้นมังคุดเตรียมความพร้อมในการออกดอกและอยู่ในระยะแตกใบอ่อน เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตกหลายพื้นที่ เหมาะต่อการระบาดของหนอนชอนใบ โดยใบมังคุดที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแคระแกรน บิดเบี้ยว เนื้อเยื่อใบถูกทำลาย ทำให้มังคุดแตกใบอ่อนบ่อยครั้ง เพื่อชดเชยใบที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Acrocercops sp. และ Phyllocnistis sp.
วงศ์ : Gracillariidae และ Phyllocnistidae
อันดับ : Lepidoptera

ลักษณะการเข้าทำลาย
Acrocercops sp. ทำลายใบอ่อนที่มีอายุมาก โดยตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะชอนไชกัดกิน และขับถ่ายอยู่ในระหว่างผิวใบ รอยทำลายมีลักษณะแผ่กว้างเป็นแผ่นสีดำ เนื่องจากเนื้อเยื่อระหว่างผิวใบตรงส่วนนั้นถูกทำลายไป
Phyllocnistis sp. ทำลายใบอ่อนมังคุดที่มีอายุน้อย พบการระบาดรุนแรงมากในช่วงที่มังคุดแตกใบอ่อน โดยเฉพาะในระยะต้นกล้าของมังคุด ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะชอนไชเป็นทางยาว หรือสร้างเป็นอุโมงค์กัดกินและขับถ่ายอยู่ภายในรอยทำลายของหนอนชอนใบใบมังคุดที่ถูกทำลายจะแสดงลักษณะแคระแกร็น บิดเบี้ยว เนื่องจากเซลล์และเนื้อเยื่อบางส่วนของใบถูกทำลายตั้งแต่ใบอ่อนยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ถ้ามีการระบาดรุนแรงอาจพบหนอนชอนใบมากกว่า 1 ตัวต่อใบ ทำให้มังคุดมีใบไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะในระยะต้นกล้า ชะงักการเจริญเติบโต สำหรับต้นมังคุดที่โตแล้วการถูกทำลายรุนแรง ทำให้มังคุดแตกใบอ่อนบ่อยครั้งเพื่อชดเชยใบที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งใบอ่อนเป็นตัวดึงดูดแมลงศัตรูชนิดอื่น ๆ เข้ามาทำลายมังคุดเพิ่มขึ้น

รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยของหนอนชอนใบทั้งสองชนิดเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 3.0 และ 2.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ ผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ด้านหลังใบติดกับเส้นกลางใบ ระยะไข่ 3 – 5 วัน ระยะหนอน 15 – 16 วัน และระยะดักแด้ 4 – 8 วัน แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

  1. เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมังคุด และสังเกตการเข้าทำลายของหนอนชอนใบอย่างสม่ำเสมอ
    โดยสังเกตดูที่ใต้ใบมังคุด หากพบรอยทางยาวเป็นเส้นสีขาว ให้รวบรวมนำไปเผาทำลาย
  2. หากพบหนอนเข้าทำลายประมาณรุนแรง (มากกว่าร้อยละ 30 ) ให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง
    คาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 8 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใด
    ชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://ppsf.doae.go.th/%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%a8%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a-56/