นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.- ต.ค.) พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (พิกัด 01-24 รวมยางพารา) รวมทั้งสิ้น 2,146,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,536,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24% การนำเข้ามูลค่า 610,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.15% ส่งผลให้ไทยมีดุลการค้าสินค้าเกษตรเกินดุลถึง 926,663 ล้านบาท
*สินค้าเกษตรที่มูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ข้าว มูลค่า 168,685 ล้านบาท ขยายตัว 39.24%
2. ทุเรียนสด มูลค่า 130,352 ล้านบาท หดตัว 4.57%
3. ยางธรรมชาติ มูลค่า 95,927 ล้านบาท ขยายตัว 54.33%
4. ไก่แปรรูป มูลค่า 87,009 ล้านบาท ขยายตัว 10.75%
5. อาหารสุนัขหรือแมว มูลค่า 79,071 ล้านบาท ขยายตัว 35.45%
*สินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ถั่วเหลือง มูลค่า 56,613 ล้านบาท หดตัว 10.38%
2. กากน้ำมันและกากแข็งอื่นๆ ที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง มูลค่า 43,780 ล้านบาท หดตัว 22.90%
3. ปลาสคิปแจ็คแช่แข็ง มูลค่า 32,452 ล้านบาท ขยายตัว 26.75%
4. ข้าวสาลีและเมสลิน มูลค่า 31,820 ล้านบาท หดตัว 23.51%
5. อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ ผงครีมเทียม) มูลค่า 28,131 ล้านบาท ขยายตัว 22.62%
ทั้งนี้ แนวโน้มการค้าสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 ในภาพรวม ถือว่าสินค้าเกษตรยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ประกอบกับไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทุกประเทศ ถึงแม้ว่าสถานการณ์การค้าโลกในช่วงนี้ ยังคงเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน อาทิ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ นโยบายสีเขียวและความยั่งยืน รวมถึงสภาพอากาศในยุคโลกเดือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี จากสถิติการค้าสินค้าเกษตรของไทยในหลายปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่โดดเด่นในระดับโลก โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย ได้แก่ ความหลากหลายของสินค้าเกษตรที่ผลิตและส่งออก การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคเอเชียและตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากการกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ยังคงนโยบาย “Make America Great Again” สานต่อ “American First” ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสูงถึง 60% และจากประเทศอื่น ๆ 10-20% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศนั้น
นโยบายดังกล่าว ทำให้ไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เนื่องจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ กับจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก เร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า โดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ตลอดจนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและช่วยส่งเสริมการเติบโตของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกต่อไป
สำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทยแล้ว ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
1. จีน
ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 460,086 ล้านบาท ลดลง 2.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 375,323 ล้านบาท ลดลง 5.73% และการนำเข้า 84,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.08% โดยไทยได้ดุลการค้า 290,560 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ทุเรียนสด ยางธรรมชาติ น้ำตาล สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ องุ่นสด ปลาทูนากระป๋อง แอปเปิลสด อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ (อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ ผงครีมเทียม) และของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์ (อาทิ อาหารสุกร อาหารกุ้ง)
2. อาเซียน
ไทยและอาเซียนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 501,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.92% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 345,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.20% และการนำเข้า 155,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.20% โดยไทยได้ดุลการค้า 190,218 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์) น้ำตาลดิบ น้ำ/น้ำอัดลม/น้ำแร่ และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (อาทิ นมยูเอชที นมถั่วเหลือง) สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ ผงครีมเทียม) เมล็ดกาแฟดิบ (ไม่คั่ว) และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ
3. สหรัฐอเมริกา
ไทยและสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 188,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.37% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 152,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.06% และการนำเข้า 35,548 ล้านบาท ลดลง 10.35% โดยไทยได้ดุลการค้า 116,929 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้าว ปลาทูนากระป๋อง ยางธรรมชาติ และน้ำผลไม้ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวสาลีและเมสลิน ถั่วเหลือง อาหารปรุงแต่ง (อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม) ของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์ (อาทิ อาหารสุกร อาหารกุ้ง) และขี้ตะกอนและเศษจากการต้มกลั่น
4. ญี่ปุ่น
ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 158,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 146,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.61% และการนำเข้า 12,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.46% โดยไทยได้ดุลการค้า 134,474 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อและเครื่องในแช่แข็ง อาหารสุนัขหรือแมว ยางธรรมชาติและปลาทูนากระป๋อง สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาซาร์ดีนแช่แข็ง ปลาสคิปแจ็คแช่แข็ง หอยเชลล์แช่แข็ง เนื้อโคกระบือแช่แข็ง และซอสปรุงแต่ง (อาทิ ซอสพริก น้ำปลา กะปิ)
5. สหภาพยุโรป
ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 135,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 89,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.05% และการนำเข้า 46,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.14% โดยไทยได้ดุลการค้า 43,068 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ อาหารสุนัขหรือแมว ไก่ปรุงแต่ง (อาทิ แกงไก่ที่บรรจุกระป๋อง) ซอสปรุงแต่ง (อาทิ ซอสพริก น้ำปลา กะปิ) เนื้อหรือส่วนอื่นของสัตว์ซึ่งบริโภคได้ ใส่เกลือ แช่น้ำเกลือ แห้ง หรือรมควัน (อาทิ หนังหมูแห้ง) สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวสาลีและเมสลิน เนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นของสัตว์ ป่น ทำเป็นเพลเลต กากมันสัตว์ที่เจียวน้ำมันออกแล้ว อาหารสัตว์อื่นๆ (อาทิ อาหารสุกร อาหารกุ้ง) อาหารปรุงแต่ง (อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ ผงครีมเทียม) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ ที่ทำจากธัญพืช หรือสิ่งสกัดจากมอลต์ (อาทิ อาหารปรุงแต่งที่เหมาะสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก)