ค้นหา

“รมช.อิทธิ” เดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 68

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 34 ครั้ง

 นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร ครั้งที่ 3/2567 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่นิ่งนอนใจในการมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคเกษตรและขอยืนยันว่าทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในภาพรวมให้สำเร็จและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่ประชุมในวันนี้  มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2567/68 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
1. การเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้และป้องปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยติดตามสถานการณ์และตรวจสอบจุด Hot Spot ใช้ข้อมูลจากระบบ VIIRS ในการติดตามสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตรและ ส.ป.ก. นำข้อมูลจุด Hot Spot และพื้นที่เผาไหม้ทาบกับพื้นที่แปลงเกษตรกรทุก 15 วัน และส่งให้ชุดปฏิบัติการอำเภอ/ตำบล ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกร แจ้งสิทธิการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม สำหรับการตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ หากตรวจพบว่ามีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง ดำเนินการดังนี้ 
(1) เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กำหนดให้ห้ามกำจัดวัสดุทางการเกษตร ฟางข้าว ตอซังข้าว ซังข้าวโพด ฯลฯ โดยการเผาหากไม่ปฏิบัติตามจะมีหนังสือเตือนและหากยังฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิ์และต้องออกจากที่ดิน 
(2) เกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะชะลอการได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) ซึ่งเอกสารดังกล่าวสามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ตามมาตรา 40 
(3) เกษตรกรในพื้นที่เกษตรทั่วไป ให้หน่วยงานกำหนดคุณสมบัติหรือเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐ ต้องเป็นเกษตรกรที่พื้นที่/แปลงเกษตร ไม่มีการเผาในฤดูกาลการผลิต 2568 และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้ โดยเริ่มดำเนินการเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และป้องปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม อาทิ ออกประกาศแจ้งให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนและแจ้งจำนวนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องบริหารการเผาและนำลงระบบปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์ http://burncheck.com แอปพลิเคชั่น “burncheck”

2. การส่งเสริมการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ดำเนินการภายใต้หลัก 3R คือ Re-Habit การปรับเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมการปลูกพืชแบบไม่เผา Replace with High value crops การปลูกทดแทนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้ผล (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด มะม่วง) หรือ ไม้ยืนต้น (ป่าไม้และไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน) และ Replace with Alternate crops การปลูกทดแทนในพื้นที่นาปรัง ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังเป็นพืชหลังนาที่มีศักยภาพและใช้น้ำน้อย นอกจากจะเป็นการลดการเผายังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมปี 2568 เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ได้แก่ โครงการปรับเปลี่ยนพืชที่มีมูลค่าสูงและส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร พื้นที่เป้าหมาย 210,000 ไร่ โครงการบูรณาการผลิตถั่วเหลืองและถั่วเขียวพันธุ์ดีเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และโครงการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูงด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/91456