ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไทย-ภูฏาน ได้ประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการและตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 2568 ซึ่งการทำ FTA จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย เพราะจะมีการลด/เลิกการเก็บภาษีศุลกากรและมาตรการที่มิใช่ภาษี มีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าทำให้การค้า 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ
“ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับต้นของภูฏานและสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวภูฏานเป็นอย่างมาก ซึ่ง FTA ไทย-ภูฏาน จะช่วยให้ชาวภูฏานเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษี เป็นกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในระยะยาว โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 640.23 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏานมูลค่า 638.03 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏานมูลค่า 2.20 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 523.51 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏานมูลค่า 522.63 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏานมูลค่า 0.87 ล้านบาท สำหรับสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ข้าวสาลี ผลไม้แห้ง” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ทั้งนี้ มกอช. ได้มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายและมาตรฐานสินค้าเกษตร (กนม.) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยพร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1 เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Working Group on SPS) เพื่อเจรจาจัดทำบท SPS ภายใต้การเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันพร้อมทั้งเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาและเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งภูฏานยังคงต้องการความร่วมมือทางวิชาการกับไทยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในด้านการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร
เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า บทมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ค้าขายระหว่างสองประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้แห้ง/กระป๋อง น้ำผลไม้ เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสตา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ความร่วมมือด้านวิชาการจะนำไปสู่การยกระดับความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและภูฏานที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น