ค้นหา

กยท.จำกัดความเสียหายน้ำท่วมสวนยาง ห่วงพลาดโอกาสตลาดโลกโตปีละ5%

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
เข้าชม 42 ครั้ง

สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่ากองวิจัยเศรษฐกิจยาง ฝ่ายเศรษฐกิจยางได้วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีฝนตกจากเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยามาอ้างอิง พบกลุ่มฝนฟ้าคะนองและกลุ่มฝนกำลังอ่อน-ปานกลาง ปกคลุมพื้นที่สวนยาง 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลาและสงขลา

คาดว่ามีสวนยางเปิดกรีดที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจำนวน 5,592,621 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่ดังกล่าว (เดือน ธ.ค. 2567) หายไปกว่า 142,963.23 ตัน หรือคิดเป็น 24.75% ของผลผลิตยางในเดือนนี้ เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถออกไปกรีดยาง เครื่องมืออุปกรณ์ในการกรีดยางเสียหายและบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังรอการระบาย ด้วยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ผลผลิตยางขาดตลาดได้

“กยท. จะเร่งเข้าตรวจสอบสภาพสวนยางของพี่น้องเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งหากสวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวนหรือต้นยางได้รับความเสียหายเกิน 20 ต้น/แปลง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กยท. จะจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง รายละไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอีกรายละไม่เกิน 50,000 บาทแบบปลอดดอกเบี้ยตลอดสัญญา”

รายงานข่าวจาก กยท. แจ้งว่า จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาพบว่า ราคายางยังคงได้รับปัจจัยความท้าทายจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ประกอบด้วย สหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจยังชะลอตัวลงต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. ดัชนีของสถาบันการจัดการอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) หรือ ISM ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 48.5 ส่วนดัชนี ISM ภาคบริการพลิกกลับมาหดตัวที่ 48.8 จากเดือนก่อนที่ 53.8 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ในส่วนของการจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 218,000 ตำแหน่ง สู่ 206,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานขยับขึ้นสู่ระดับ 4.1% “ตัวเลขสหรัฐ ที่ยังคงเปราะบางและความไม่แน่นอนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคายางต่อไป”

ตลาดจีน  พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager Index (PMI)) ล่าสุดยังสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ไม่สมดุลและเปราะบางในภาคการผลิตของจีน แม้ภาคบริการยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 จะเติบโตหลังจากชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอ ประกอบกับภาวะอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตและผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าโดยสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ

ตลาดยุโรป พบว่า ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ปรับลดดอกเบี้ยลงตามคาด แต่การดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อภาคบริการสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง และในเดือนมิ.ย.ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงอีกครั้งสู่ระดับ 45.8 จากเดือนก่อนที่ 47.30

ตลาดญี่ปุ่น พบว่า ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนภาพการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัว 1.8% ในเดือนพ.ค.จากเดือนก่อนที่โต 0.5% อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/67 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (Tankan) ในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 11 สู่ระดับ 13 ส่วนภาคบริการลดลงเล็กน้อยจาก 34 สู่ระดับ 33

อย่างไรก็ตาม ราคายางยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนในเดือน ส.ค. โดยประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง 60–80% ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้ลดปริมาณยางที่จะเข้าสู่ตลาดลงได้บ้างจะส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ลดลงในช่วงเดือน ส.ค. โดยคาดว่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้งหลังจากที่ราคาปรับฐานมีการพักตัวในแนวโน้มขาขึ้นเรียบร้อยแล้ว สำหรับราคายางวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา พบว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 75.59 บาท

ด้านเว็บไซต์ Grand View Research ของสหรัฐเผยแพร่รายงานวิเคราะห์ตลาดยางพาราทั่วโลกระบุว่า ขนาดตลาดยางโลกมีมูลค่า 46.95 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 และคาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ขยายตัว 5.08% ตั้งแต่ปี 2024 ถึง 2030 

“คุณสมบัติเฉพาะของยางพาราเป็นกลไกสำคัญการขับเคลื่อนตลาดให้เติบโต เช่น ความต้านทานการสึกกร่อนและความร้อน รวมถึงการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบที่มีค่าในอุตสาหกรรมปลายทางต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคยางเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตยางรถยนต์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากและถุงมือ อื่นๆ”

ทั้งนี้ ตลาดยางสหรัฐ คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลายประการที่ผลักดันการขยายตัวนี้ ได้แก่ สหรัฐ เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้ายางรถยนต์รายใหญ่เนื่องจากมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้างและไฟฟ้าสูง

อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ ได้รับอิทธิพลจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าและการจัดตั้งฐานการผลิต โดยผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศซึ่งคาดว่าจะผลักดันการเติบโตของตลาดยางรถยนต์ และส่งผลต่อการเติบโตของตลาด คาดว่าภาคการบินที่เติบโตจะส่งผลให้เที่ยวบินเพิ่มขึ้นและความต้องการยางรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อความต้องการยางสำหรับใช้ทำยางเครื่องบิน”

รายงานได้กล่าวถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ครองตลาดยางพาราและมีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดกว่า 34% ในปี 2023  โดยมีประเทศผู้เล่นสำคัญได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ไทยและญี่ปุ่น ที่แม้จะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่แรงขับเคลื่อนจากจีนและอินเดียที่ต้องการเพิ่มการผลิตยานยนต์กำลังผลักดันตลาดยางพาราให้เติบโตสอดรับกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 

ท่ามกลางปัจจัยผันผวนของอุตสาหกรรมยางพาราที่มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อราคาในประเทศการบริหารจัดการที่ดีเพื่อรองรับโอกาสแห่งอนาคตเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนเริ่มต้นที่การจำกัดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมจะซัดสาดการผลิตยางของไทย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1158647