ในปี 2024 วงการเกษตรทั่วโลกต่างจับตาสายพันธุ์พืชใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการต้านทานโรค ทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
10 พืชสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นไฮไลท์แห่งปี 2024
1. ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1
ถั่วลิสงสายพันธุ์นี้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากแม่พันธุ์ขอนแก่น 5 และพ่อพันธุ์ IC 10 เป็นพันธุ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และต้านทานต่อโรคยอดไหม้มากกว่าพันธุ์เดิมที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบัน
จุดเด่น ทรงต้นแบบพุ่มตั้ง ไม่ยืดเลื้อย เปลือกฝักมีลาย เมล็ดใหญ่ เก็บเกี่ยวง่าย ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคยอดไหม้ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ผลผลิตสูง 375 กิโลกรัมต่อไร่ ปรับตัวได้ดีเมื่อปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณภาพเมล็ดเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมแปรรูป
สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์ e-mail: [email protected] หรือโทรศัพท์ 086-397-6704 และ 02-579-3130 ในวันและเวลาราชการ
2.ข้าวพันธุ์จาคูเนเน สวพส. 01 (Jakunene Sorworporsor 01)
ข้าวจาคูเนเน สวพส. 01 เป็นหนึ่งในข้าวท้องถิ่นกลุ่มสีดำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง
จุดเด่น เป็นข้าวเจ้าดำ มีค่าความสามารถในการต้านสารอนุมูลอิสระสูงถึง 876.29 มีปริมาณสารแอนโทไซยานินสูงถึง 6,207 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีปริมาณอะมิโลส 8.99 เปอร์เซ็นต์ สำหรับธาตุ Fe และ Zn จัดว่าอยู่ในกลุ่มปริมาณปานกลาง พันธุ์นี้มีคุณสมบัติเด่นด้านคุณค่าทางโภชนาการ
3.งาขี้ม่อน พันธุ์หอมน่าน (Hom Nan)
งาขี้ม่อนพันธุ์หอมน่าน เป็นพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากประชากรงาขี้ม่อนพื้นเมือง ที่รวบรวมจากบ้านวังหมอ ตำบลบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) การคัดเลือกพันธุ์นี้เริ่มต้นด้วยการสำรวจและรวบรวมพันธุ์งาขี้ม่อนจากเกษตรกรใน 12 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดน่าน จากนั้นนำมาปลูกทดลองที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อทำการคัดเลือกแบบรวม
การปลูกทดสอบรุ่นแรก ดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2561 ถึงมกราคม 2562 โดยปลูกจำนวน 63 สายพันธุ์ จากการเก็บรวบรวมและปลูกทดสอบ พบว่า แต่ละแหล่งมีความหลากหลายภายในประชากรสายพันธุ์เดียวกันสูงมาก เช่น ลักษณะความสูง วันออกดอก และวันเก็บเกี่ยวที่เท่ากัน จากการคัดเลือก ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ CR10-4, NN8-4, MH9-4 และ DOA 8-4 จากนั้นได้วิเคราะห์ปริมาณน้ำมันและสารสำคัญภายในเมล็ดของทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ NN8-4 ซึ่งเป็นงาขี้ม่อนพันธุ์กลาง มีผลผลิตเฉลี่ย 236.41 กิโลกรัมต่อไร่ และได้ใช้ชื่อในการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ว่า “พันธุ์หอมน่าน”
จุดเด่น เป็นสายพันธุ์งาขี้ม่อนพันธุ์กลาง เก็บเกี่ยวช้ากว่างาขี้ม่อนพันธุ์เบาประมาณ 20 วัน ทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากฝนตกช่วงทำการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูฝน หนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนเลขที่ 1968/2566 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
4. กาแฟ (Coffea arabica L.) พันธุ์อาร์พีเอฟ-ซี4 (RPF-C4)
กาแฟพันธุ์อาร์พีเอฟ-ซี4 (RPF-C4) เป็นกาแฟอาราบิก้ากลุ่มคาติมอร์ ที่ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. พันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากต้นแม่พันธุ์ที่ปลูกในแปลงส่งเสริมของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งนำมาจากสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
ต้นแม่พันธุ์มีลักษณะทรงพุ่มเป็นสามเหลี่ยม ใบหนากว้าง สีเขียวเข้ม ติดผลดก ผลสีแดงเข้ม ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ และมียอดอ่อนสีแดง ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการเก็บเมล็ดจากต้นแม่พันธุ์นี้มาเพาะขยายพันธุ์ และทำการคัดเลือกต้นที่มีความต้านทานต่อโรคราสนิมและมีคุณสมบัติเด่นอื่นๆ จนได้สายพันธุ์ RPF-C4 ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564
จุดเด่น เจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่สูง ทนทานต่อโรคราสนิม ให้ผลผลิตต่อต้นสูงเฉลี่ย 2 ปี เฉลี่ย 4,030 กรัมต่อต้น และคุณภาพการชิมคะแนนดีเยี่ยม
5.มะนาวพันธุ์ กวก. พิจิตร 2
ศวพ.พิจิตรทำการปรับปรุงพันธุ์มะนาวพันธุ์พิจิตร 2 โดยการฉายรังสีให้มีเมล็ดน้อยและเปลือกบางลง ในขณะที่ยังคงทนทานต่อโรคแคงเกอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภคมะนาว โดยใช้เวลาในการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการนานถึง 12 ปี
จุดเด่น เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 8-12 เดือน จำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 1.97 เมล็ด น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ที่มีจำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 24.7 เมล็ด ความหนาเปลือกเฉลี่ย 1.78 มิลลิเมตร น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ความหนาเปลือกเฉลี่ย 2.36 มิลลิเมตร และให้ผลผลิตดกเมื่ออายุต้น 3 ปีขึ้นไป เฉลี่ย 1,050 กิโลกรัมต่อไร่
ผู้ที่สนใจกิ่งพันธุ์มะนาวพันธุ์พิจิตร 2 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทรศัพท์ 056-990-035
6.เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1
ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการรวบรวม เก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์เห็ดฟางจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการเพาะทดสอบคัดเลือกเห็ดฟางสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะที่ดีตามความต้องการของตลาด จนได้เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 สามารถเพาะได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จุดเด่น เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ดอกมีลักษณะแบบฐานกว้าง รูปร่างค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มดอกหนา สามารถเพาะได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการเชื้อพันธุ์เห็ดได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายแลขโทรศัพท์ 0-2579-0147 ในวันและเวลาราชการ
7.สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3
เป็นสับปะรดลูกผสมสายพันธุ์ SPPV#51 ได้มาจากการคัดเลือกลูกผสมระหว่างสับปะรดพันธุ์สิงคโปร์ปัตตาเวียและปัตตาเวีย โดยใช้วิธีการคัดเลือกสายพันธ์ุต้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ได้สร้างประชากรลูกผสมสำหรับการคัดเลือกจาก 3 คู่ผสม ได้แก่ สิงคโปร์ปัตตาเวีย×ปัตตาเวีย (SPPV), ปัตตานี×ปัตตาเวีย (PNPV) และตราดสีทอง×ปัตตาเวีย (TTPV) จนได้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่
สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3 เป็นสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงและวิจัยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2539-2566 จึงได้พันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศและดินในประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อโรคยอดเน่าและโรครากเน่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มักพบในการเพาะปลูกสับปะรดทั่วไป ที่สำคัญสับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3 ช่วยลดการใช้สารเคมีในการดูแลทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่น ให้ผลผลิตสูงถึง 7.20 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทองซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ 33 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะผลใหญ่ ให้ปริมาณวิตามินซีสูง เนื้อแน่นนุ่มละเอียด สีเหลืองสวย รสชาติหวานหอม
เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี โทรศัพท์ 032-772-853
8.ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร1
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงเสนอขอรับรองสายพันธุ์ PCT4-4 เป็นพันธุ์แนะนำ โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ในปี 2567 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1”
จุดเด่น สายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรใหม่ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์วิจัยเกษตรจังหวัดพิจิตร มีลักษณะเด่นคือให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สูงกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 25% ทนทานต่อโรคใบไหม้และเติบโตได้ดีในดินทราย เหมาะสำหรับการผลิตยาแผนไทยและสมุนไพรเชิงพาณิชย์
ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร1 ให้ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,073 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครปฐมซึ่งให้ผลผลิตสด1,620 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 28 เปอร์เซ็นต์) และสูงกว่าพันธุ์ปราจีนบุรีซึ่งให้ผลผลิตสด 1,454 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 43 เปอร์เซ็นต์) และให้ผลผลิตแห้งเฉลี่ย 666 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครปฐมซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 522 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า28 เปอร์เซ็นต์) และสูงกว่าและพันธุ์ปราจีนบุรี ซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 438 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 52 เปอร์เซ็นต์)
เกษตรกรและผู้ที่สนใจ ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่ สามารถสอบถามรายละเอียด “ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1” เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทรศัพท์ 09 5341 1179
9.กระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสน ม่วงจัมโบ้
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จ.ตรัง เชิญชวนเกษตรกรปลูกกระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสน ม่วงจัมโบ้ ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตสูงและเก็บเกี่ยวได้เร็ว ขายได้ราคาดีกว่ากระเจี๊ยบทั่วไปถึง 2 เท่า
จุดเด่น มีลำต้นแข็งแรง ใช้เวลาปลูกประมาณ 130-150 วัน ก็เก็บขายได้ มีกลีบเลี้ยงที่หนา ยาวและให้ผลผลิตที่รวดเร็ว ด้วยความที่มีดอกใหญ่จึงทำให้ได้น้ำหนักเยอะ มีสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูง ทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำน้ำดื่มชุ่มคอ ลดเสมหะ ลดไขมันในเส้นเลือดได้
ศูนยวิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
10.เห็ดภูฏานลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ กวก.สทช.1
กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาเห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของเห็ด ให้มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่ท้าทาย อีกทั้งยังมีรสชาติที่ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
จุดเด่น สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 152.68 กรัมต่อถุงอาหารเพาะ (800 กรัม) ต่อรอบการผลิต 2 เดือน ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์เห็ดภูฏาน-3 เดิมที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.88 กรัมต่อถุงอาหารเพาะ เพิ่มขึ้น 19.39 เปอร์เซ็นต์
สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเชื้อพันธุ์เห็ดได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 0-2579-0147 และเมื่อได้รับเชื้อเห็ดแล้วควรใช้ภายใน 15 วัน พร้อมกับใช้เชื้อเห็ดแต่ละขวดให้หมดภายในครั้งเดียว
พืชสายพันธุ์ใหม่ในปี 2024 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการเกษตรที่ช่วยให้เกษตรกรทั่วโลกสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพและผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอีกด้วย