ค้นหา

วิบากกรรม ‘ไข่ไก่’ ลากยาวต่อเนื่องปี 68 เสี่ยงครบต้นทุนแรงงาน-วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง

ข่าวเกษตรเดลินิวส์
เข้าชม 53 ครั้ง

ในปี 2567 สถานการณ์ราคาไข่ไก่ในประเทศไทยมีความผันผวนอย่างชัดเจน โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคในประเทศลดลง นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนการผลิตอื่นๆ ยังมีบทบาทสำคัญต่อราคาตลาดไข่ไก่ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งข้อมูลในปี 2567 จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางตลาดและแนวโน้มของการผลิตและการบริโภคในปี 2568 ได้ชัดเจนมากขึ้น

สถานการณ์ราคาของไข่ไก่ในปี 2567 มีความผันผวน โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มเริ่มต้นที่ 3.50 บาทต่อฟองในช่วงสิ้นปี 2566 และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตามรายละเอียดดังนี้

การปรับตัวของราคาในไตรมาสแรก (มกราคม – เมษายน 2567)
ราคาไข่ไก่เริ่มเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม โดยปรับขึ้น 30 สตางค์ เป็น 3.80 บาทต่อฟอง ก่อนลดลงในช่วงปลายเดือนมกราคม เหลือ 3.40 บาทต่อฟอง และทรงตัวที่ระดับดังกล่าวจนถึงต้นเดือนเมษายน สาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคที่ลดลงหลังเทศกาลปีใหม่

การปรับเพิ่มในไตรมาสสอง (เมษายน – พฤษภาคม 2567) 
ช่วงกลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ราคาปรับตัวขึ้นอีกครั้งจนแตะระดับสูงสุดที่ 4 บาทต่อฟองเนื่องมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและความต้องการบริโภคที่ฟื้นตัวเล็กน้อย ประกอบกับปี 2567 อากาศร้อนมากทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงมากกว่าปกติ

การลดลงในครึ่งปีหลัง (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2567)
ราคาปรับลดลงในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน โดยลดลง 20 สตางค์ในแต่ละครั้ง จนเหลือ 3.60 บาทต่อฟอง(ราคาไข่คละหน้าฟาร์มยังยืนระดับราคานี้จนถึงปัจจุบัน) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และกำลังซื้อที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ ราคาไข่ไก่ที่ปรับลดลงในช่วงดังกล่าว จากสาเหตุหลัก คือ เศรษฐกิจโลกและภายในประเทศชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและไข่ไก่ลดลง ในขณะเดียวกันการบริโภคในประเทศได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง

ด้านต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไม่ต่างจากภาคปศุสัตว์อื่น ยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าเพื่อไม่ทำให้การดำเนินงานของฟาร์มหยุดชะงัก ขณะที่ความต้องการไข่ไก่ยังอาศัยช่วงฤดูการเป็นสำคัญ กล่าวคือ ความต้องการมีแนวโน้มลดลงในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ปิดเทอมและเทศกาลกินเจ ขณะที่ความต้องการจะเพิ่มขึ้นในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม 

แนวโน้มปี 2568 คาดว่าราคาไข่ไก่ในปี 2568 จะอยู่ในระดับ 3.60-4.00 บาท/ฟอง โดยจะมีการปรับขึ้นในช่วงเทศกาลและฤดูกาลสำคัญ แต่การปรับลดอาจเกิดขึ้นหากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรีในการปรับค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันในปีหน้า รวมถึงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การลดภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีการบริหารจัดการและดูแลแม่ไก่ในฟาร์มอย่างดี มีผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่องเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนไทย เพราะหากเศรษฐกิจโลกและในประเทศฟื้นตัว คาดว่าความต้องการไข่ไก่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ระบบจัดการฟาร์มแบบอัตโนมัติ การทำโรงเรือนระบบปิด ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดไข้หวัดนกและโรคระบาดสัตว์ปีกอื่นๆ ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ในประเทศกระตุ้นความต้องการให้สูงขึ้น 

สำหรับปี 2568 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมการบริโภค คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ความท้าทายจากต้นทุนการผลิตยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาไข่ไก่ผันผวนมากและกระทบต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกับในปี 2567

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/4248750/