ค้นหา

เดินสายถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับเพาะเลี้ยงไข่ผำ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 35 ครั้ง

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันไข่ผำได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน บี 12 และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย จึงเหมาะสำหรับนำมาบริโภคและแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ มังสวิรัติ นักกีฬา ผู้สูงวัยและผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยหันมาบริโภคโปรตีนจากพืช (Plant-based protein) เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้ไข่ผำได้รับความสนใจทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภคเพิ่มมาขึ้นไปด้วย ดังนั้น โปรตีนจากไข่ผำ จึงมีศักยภาพใช้ทดแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ในปัจจุบันและอนาคต

โดยปัจจุบันสามารถวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไข่ผำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงได้จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ DOA1 เชียงราย (CRI1) มีโปรตีน 48.6 % ไข่ผำสายพันธุ์ DOA2 นครราชสีมา (NMA1) มีโปรตีน 47.0 % และไข่ผำสายพันธุ์ พะเยา (PYO1) มีโปรตีน 46.0 % เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ได้นำไปเพาะเลี้ยง สำหรับนำไปบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงต่อไป

กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การเพาะเลี้ยงไข่ผำเชิงพาณิชย์ตามมาตรฐาน GAP” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงไข่ผำแบบครบวงจรของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ การเพาะเลี้ยง เก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  พร้อมกับส่งเสริมการเพาะเลี้ยงไข่ผำตามมาตรฐานพืชอาหาร (มกษ. 9001-2564) ให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อต่อยอดธุรกิจไข่ผำไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งยังสร้างความรับรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ตรวจประเมินและรับรอง GAP และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร สามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน วางแผนการจัดอบรมในปี 2568 ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วประเทศ ดังนี้

วันที่ 14 – 15 มกราคม จัดอบรม ณ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา วันที่ 28 มกราคม จัดอบรม ณ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตร จ.ลำปาง วันที่ 30 มกราคม และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จัดอบรม ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เชียงราย และเครือข่ายเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป จ.เชียงราย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จัดอบรม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงา และบ้านแสงศรีจันทร์ จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ จัดอบรม ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดลงขลา และบริษัท อินโนโฟ จำกัด (บ้านเห็ดแครง) โดยการอบรมไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  ผู้ที่สนใจเข้ารับอบรมสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ  โทรศัพท์ 02-5790151-8 ต่อ 311-313 ในวันและเวลาราชการ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/4283874/