ค้นหา

เตือนระวังโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในโค-กระบือ

กรมปศุสัตว์
เข้าชม 16 ครั้ง

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช  ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า โรคปากและเท้าเปื่อยในโคและกระบือมักจะระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้โคและกระบือเกิดความเครียด มีสุขภาพอ่อนแอและภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยได้ง่าย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ จึงขอความร่วมมือสหกรณ์โคนม ศูนย์รับนม สหกรณ์โคเนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือ รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังค้นหาโรคในสัตว์ โดยทำการตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร หากพบฟาร์มที่สงสัยโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบและการควบคุมโรคโดยเร็ว เข้มงวดด้านมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นยา ฆ่าเชื้อยานพาหนะทุกคันที่เข้า-ออกฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ศูนย์รับนม สหกรณ์โคนม ตลอดจนบุคคลที่เข้าอออกฟาร์มทุกครั้ง เข้มงวดในการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะนำโรคโดยการใช้สารกำจัดแมลงพาหะด้วยวิธีการฉีดพ่นบริเวณคอกหรือสถานที่พักอาศัยของสัตว์ ร่วมกับการปรับภูมิทัศน์บริเวณสถานที่เลี้ยงสัตว์หรือแหล่งรวมสัตว์ไม่ให้มีแหล่งน้ำขังหรือแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อคอกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเน้นย้ำเกษตรกรในการป้องกันการนำโรคเข้าฟาร์ม ประกอบด้วย งดการนำเข้าสัตว์มาเลี้ยงใหม่จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคระบาดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคสงบและเข้มงวดในการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่
(1) ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ใช้เฉพาะภายในฟาร์มและฆ่าเชื้อทุกครั้ง
(2) ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์เข้าภายในฟาร์ม โดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง
(3) หากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคระบาดให้หลีกเลี่ยงการผสมเทียมและงดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ในช่วงที่มีโรคระบาด

กรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยให้ได้รับความอบอุ่นตลอดเวลาหรืออยู่ในสถานที่ที่ป้องกันความหนาวได้ และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ ถังนม อาหาร รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ประกอบกับหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่  หรือ ผ่านทาง Application dld 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/4290155/