โครงการปลูกมันสำปะหลัง โรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ ต.คำป่าหลาย อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ไม่เพียงมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพในด้านการเกษตร แต่ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเยาวชนในท้องถิ่น สร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จะนำไปสู่ความมั่นคงในชีวิตและความยั่งยืนของชุมชนในระยะยาว
ยังช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นและประเทศในระยะยาว
“รัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลตี้ สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS กล่าวว่าโดยเฉพาะอาชีพปลูกมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 3.5 ตันต่อไร่ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่อื่นที่สามารถผลิตได้ถึง 6-7 ตันต่อไร่
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในพื้นที่มุกดาหาร ได้แก่ ข้อจำกัดของสภาพพื้นที่ ต้นทุนการผลิตที่สูง และกระบวนการเพาะปลูกที่ยังขาดประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผลผลิต แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงด้านรายได้ของเกษตรกร
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว PQS ได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบในแต่ละตำบล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตอย่างยั่งยืน
ปลูกมันสำปะหลัง ส่งเสริมอาชีพเยาวชน
ทว่าอุปสรรคสำคัญคือกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น บริษัทจึงได้ขยายเป้าหมายไปยังกลุ่มเยาวชนในชุมชน เพื่อพัฒนาความรู้และปลูกฝังแนวคิดที่พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง โดยเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ในอนาคต
โดยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมด จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะผ่านหลักสูตรใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยแผนการจัดการเรียนห้องเรียนอาชีพจะแบ่งเป็น 2 รายวิชา คือ รายวิชาที่ 1 ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรายวิชาที่ 2 ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังเน้นการพัฒนาทักษะการปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดอาชีพในอนาคต ทั้งยังช่วยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่การสร้างความยั่งยืนด้านอาชีพและเศรษฐกิจในท้องถิ่น ปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 24 คน และมีนักเรียนในความดูแลจำนวน 290 คน
เรียนรู้เกษตรกรสมัยใหม่ สร้างโอกาสทั้งการเรียน-การทำงาน
“บุรโชติ จันเต็ม” รองผู้อำนวยการโรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ เปิดเผยว่า นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนมีผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลัง การที่บริษัทเข้ามาให้การสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยี ความรู้และวิชาการ ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต
ทั้งนี้ โรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ได้ออกแบบหลักสูตรดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้บริหารจัดการการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถให้เหมาะสมกับการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของนักเรียนและครอบครัว
คาดหวังผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 แผนการเรียนห้องเรียนอาชีพ จะได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง โดยใช้เทคโนโลยี วิธีการ และนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง พัฒนาความรู้ ด้านอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ทั้งกระบวนการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
การนำความรู้ไปปรับใช้จริงในชีวิต
อภิชาติ พ่อกว้าง และรุจิดา แสงสุวรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากครอบครัวเกษตรกรรม เลือกเรียนวิชาการปลูกมันสำปะหลัง ให้เหตุผลว่า การเรียนวิชานี้ช่วยเสริมสร้างความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและพัฒนากระบวนการเกษตรกรรมในครอบครัวได้ โดยเฉพาะเทคนิคการปลูกมันสำปะหลัง เช่น การใช้ระบบน้ำหยดและการยกร่องมันให้มีระยะห่างที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น น้ำหนักของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นและกระบวนการเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การปรับใช้ความรู้ยังช่วยให้สามารถวางแผนเกษตรกรรมในอนาคตได้ เช่น การใช้รถไถในการกำจัดวัชพืชและหญ้า รวมถึงการใส่ปุ๋ย โดยการเว้นระยะห่างระหว่างแถวปลูก 1 .5 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยลดการใช้แรงงานในครอบครัว
แนะนำให้รุ่นน้องเลือกเรียนวิชานี้ เพราะได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง อีกทั้งยังไม่หนักเกินไปสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม วิชานี้ช่วยเสริมสร้างทักษะและแนวคิดใหม่ที่สามารถนำไปพัฒนางานเกษตรกรรมในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือระหว่าง PQS และโรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เยาวชน พร้อมเปิดโอกาสในการต่อยอดทักษะสู่การประกอบอาชีพ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว