สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. หนุนใช้นวัตกรรมงานวิจัยส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงหอยแครงคุณภาพเพิ่มรายได้ เผยสามารถเพาะอนุบาลลูกหอยแครงจนมีขนาดมากกว่า 1.0 มิลลิเมตร รวมกว่า 1 แสนตัว
“หอยแครง” สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 100 ปี เป็นเมนูคู่ร้านอาหารทะเลของประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย มีรสชาติดี ราคาสูง เป็นที่นิยมบริโภคทั่วไป ย้อนกลับไป 20 ปี พบว่าประเทศไทยเคยมีผลผลิตหอยแครงสูงสุดถึง 82,000 ตัน และลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนในปี 2565 จากสถิติกรมประมงพบว่า มีจำนวนฟาร์มเลี้ยงหอยแครงทั้งประเทศ 1,666 ฟาร์ม รวมเนื้อที่ 56,402 ไร่ ผลผลิตหอยแครงทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 32,600 ตัน และการที่หอยแครงมีผลผลิตลดลงเช่นนี้ มีปัจจัยหลายด้านไม่ว่าเป็นเรื่องของมลภาวะที่เกิดขึ้นกับชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย ปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของหน้าดิน การไหลลงของน้ำจืดในบริเวณแม่น้ำแม่กลองในปี 2554 ส่งผลให้หอยแครงในบริเวณนั้นตายลงเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการฟื้นฟู อีกทั้งการเลี้ยงหอยแครงยังประสบปัญหาเรื่องลูกพันธุ์ที่จะนำมาใช้ โดยในปัจจุบันต้องใช้ลูกพันธุ์ต่างถิ่นที่มาจากนอกพื้นที่การเลี้ยง ซึ่งมีอัตราการรอดต่ำ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของลูกหอยประกอบกับการขนส่งเป็นระยะทางไกล ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนและขาดความยั่งยืนในการเลี้ยงหอยแครง ปัจจุบันมีการพัฒนาการเลี้ยงหอยแครงในรูปแบบของบ่อดินในระบบกึ่งปิด
ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงหอยแครงและประสบปัญหาด้านคุณภาพหรืออัตรารอดของลูกพันธุ์หอย โดยที่ผ่านมาเกษตรกรจะซื้อลูกหอยจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาลงบ่อเลี้ยงและได้ผลดี แต่ต่อมาเริ่มประสบปัญหาลูกหอยมีอัตรารอดต่ำมาก โดยเกษตรกรคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเค็มของน้ำที่ต่างกันและบางครั้งผู้ขายลูกหอยมีการนำลูกพันธุ์จากหลายแหล่งมาปะปนกัน ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบเป็นอย่างมากต่อการเลี้ยงหอยแครงในพื้นที่
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรกร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้รับแจ้งปัญหาดังกล่าวจากสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม ทางสวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมประมง เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลหอยแครง Tegillarca granosa (Linnaeus, 1758) ร่วมกับฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกร โดยได้ศึกษากระบวนการผลิตลูกพันธุ์หอยแครงเบื้องต้นในฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกหอย ตั้งแต่การรวบรวมพันธุ์หอยแครงมากระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม (Artificial Breeding) การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชเพื่อใช้เป็นอาหารลูกหอยระยะว่ายน้ำและระยะลงเกาะช่วงแรก มีการจำลองบ่ออนุบาลแบบบ่อผ้าใบที่รองพื้นด้วยโคลนที่ผ่านการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันศัตรูผู้ล่าของลูกหอยระยะวัยเกล็ด ทำการอนุบาลจนลูกหอยเปรียบเทียบความหนาแน่นต่างๆ 3 ระดับ จนลูกหอยมีขนาด 2-3 มิลลิเมตร จึงเริ่มสูบน้ำทะเลผ่านการกรองให้ลูกหอยได้รับอาหารเสริม อนุบาลลูกหอยจนมีขนาด 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีอัตราการรอดสูงสามารถนำไปเลี้ยงต่อให้เป็นหอยแครงขนาดใหญ่ จึงสิ้นสุดการศึกษาทดลองและตรวจสอบอัตรารอดหรือผลผลิตลูกหอยแครง ทั้งนี้จะใช้พ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่ ต.คลองโคน และลูกหอยที่ได้จากโครงการวิจัยฯ ไปทดลองเลี้ยงในบ่อดินกึ่งปิดของเกษตรกรและตรวจสอบการเจริญเติบโตต่อไป
ผลการศึกษาในปัจจุบันทางโครงการฯ สามารถเพาะอนุบาลลูกหอยแครงจนมีขนาดมากกว่า 1.0 มิลลิเมตร รวมกว่า 1 แสนตัว และพร้อมนำไปอนุบาลต่อในบ่อผ้าใบด้วยความหนาแน่นต่างๆ ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวจะเป็นแนวทางการขยายผลพัฒนาการผลิตลูกหอยแครงจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อมีการนำไปพัฒนาขยายผลเพื่อผลิตลูกหอยแครง โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มอัตรารอดตายจากการขนส่งลำเลียงลูกหอยให้เกษตรกร นอกจากนี้ ในอนาคตอาจสามารถพัฒนาการอนุบาลลูกหอยในบ่อดินขนาดใหญ่ที่มีการเตรียมอาหารธรรมชาติและกำจัดศัตรูบางส่วนออกไปจนเป็นการผลิตลูกพันธุ์หอยแครงในบ่อเชิงพาณิชย์ได้ต่อไปได้