กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เฝ้าระวังแมลงสิง แมลงศัตรูข้าวระยะออกรวง เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศเริ่มเข้าสู่ระยะออกรวงและเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยว ประมาณ 20 ล้านไร่ โดยข้อมูลจากระบบรายงานสถานการณ์ระบาดศัตรูพืชของพืชเศรษฐกิจหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นระยะที่แมลงสิงจะเข้าทำลายในพื้นที่ปลูกข้าว จึงขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนาของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

รูปร่างลักษณะ ไข่ของแมลงสิงจะมีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน ตัวอ่อนของแมลงสิงจะมีสีเขียวแกมน้ำตาล ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในส่วนของตัวเต็มวัยจะมีรูปร่างเพรียวยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร มีหนวดยาว ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาล ส่วนด้านล่างจะมีสีเขียว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนี พร้อมทั้งปล่อยกลิ่นเหม็นออกจากต่อมที่ส่วนท้อง

ลักษณะการทำลายของแมลงสิง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงสิง จะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง โดยจะใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว โดยเฉพาะในระยะที่เป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวได้ทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง ทำให้เมล็ดลีบหรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ ตัวอ่อนสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวได้ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้ข้าวเสียคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวจะแตกหักง่าย

การป้องกันกำจัดแมลงสิง หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัดวงจรของแมลงสิง กำจัดวัชพืชในนาข้าว คันนา และรอบ ๆ แปลง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงสิง ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือใช้เนื้อเน่าแขวนไว้ตามนาข้าว เพื่อล่อตัวเต็มวัยของแมลงสิงจับมาทำลาย เนื่องจากตัวเต็มวัยของแมลงสิงชอบกินเนื้อเน่า
