นักวิจัย : ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม และ ดร.เพทาย จรูญนารถ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการลดลงของปริมาณกุ้งส่งออกอย่างต่อเนื่องจากการผลิตกุ้งได้ 400,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2553 ลดลงเหลือ 148,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2565 ผลผลิตที่ลดลงอย่างมากนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดส่งออกสำคัญ การแข่งขันสูงกับประเทศคู่แข่ง และปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งคือ การระบาดของเชื้อโรคนำไปสู่การสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งมักจะสูงถึง 60% ของผลผลิตทั้งหมด ทำให้โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมลดลง
การจัดการปัญหาการติดเชื้อในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีภัณฑ์อื่น ๆ จึงถูกนำมาใช้ฆ่าแบคทีเรียและปรสิตก่อโรค โดยสารเคมีดังกล่าวไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสได้ และยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ยาปฏิชีวนะจะปนเปื้อนในผลผลิตสัตว์น้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารลำดับถัดไปเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ ดังนั้น “อควาเจด” เป็นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อการจัดการโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้ประโยชน์จากสาหร่ายสีเขียวเซลล์เดียวซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำขนาดเล็กหลายชนิด เช่น ลูกกุ้งและลูกปลา เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นนวัตกรรม :
- อัตราการรอดของลูกกุ้งในกลุ่มที่กินอาหารปกติมีน้อยกว่า 10% ในขณะที่กลุ่มที่กินอาหารผสม “อควาเจด” สูงถึงเกือบ 70%
- ผ่านกระบวนการทำสาหร่ายแห้งก่อนผสมอาหารเป็นผงสาหร่าย ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนของสาหร่ายดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม
- เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เบอร์โทรศัพท์ : 02-564-6700