ค้นหา

ชุดตรวจโรคกุ้ง 4 ชนิดที่พบบ่อยในไทย ตรวจง่าย รู้ผลไว ต้นทุนต่ำ มีความแม่นยำสูง

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
เข้าชม 524 ครั้ง

นักวิจัย : คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย, คุณศิรินทิพย์ แดงติ๊บ และทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ไบโอเทค

ทีมวิจัยที่พัฒนาชุดตรวจโรคกุ้ง

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

กุ้งเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจหลักที่สำคัญ เพราะมีตลาดรองรับชัดเจน มีความต้องการสูงทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงกุ้งมีความเสี่ยง เพราะอาจเผชิญปัญหาโรคระบาดที่พบเจอได้ทุกฤดูกาล ซึ่งหากเกษตรกรรู้ตัวช้า รับมือไม่ทัน ก็อาจเกิดความเสียหายได้ โดยทั่วไปเกษตรกรจะรับซื้อลูกกุ้งพันธุ์ดีปลอดโรคมาจากฟาร์มแล้วนำมาเลี้ยงในบ่อ แต่ยังมีโอกาสเสี่ยงอีกมากที่ลูกกุ้งจะติดโรคจากสภาพแวดล้อมในการเพาะเลี้ยง ดังนั้น ผู้เพาะเลี้ยงจึงจำเป็นต้องติดตามสุขภาพของกุ้งอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะต้องรีบนำตัวอย่างกุ้งไปส่งตรวจด้วยเทคนิค PCR (polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นการตรวจในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อนำผลการตรวจมาใช้วางแผนแก้ปัญหา

ดังนั้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรรับมือกับปัญหาโรคระบาดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาชุดตรวจโรคกุ้งด้วยวิธีการใหม่โดยใช้เทคนิคแลมป์ (LAMP : loop-mediated isothermal amplification) ที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น

เทคนิคแลมป์มีวิธีใช้งานและอ่านผล 2 รูปแบบ แบบแรก คือ XO-AMP เป็นเทคนิคที่ให้ผลการตรวจเชิงคุณภาพ เกษตรกรจะทราบว่ากุ้งตัวอย่างที่นำมาตรวจเป็นโรคหรือไม่จากการสังเกตสีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยตาเปล่า ส่วนเทคนิคย่อยที่สอง คือ Real-AMP เทคนิคนี้จะแสดงผลการตรวจเป็นกราฟบ่งชี้ปริมาณเชื้อที่ตรวจพบ เพื่อให้เกษตรกรนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผนการจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การตรวจโรคกุ้งของทั้งเทคนิค XO-AMP และ Real-AMP มีเพียง 3 ขั้นตอนที่ง่าย ได้แก่  1) ขั้นตอนแรก คือ การเตรียมตัวอย่าง ด้วยการสกัดดีเอ็นเอจากอวัยวะของกุ้งด้วยน้ำยาสกัดดีเอ็นเอชนิดรวดเร็ว ที่ใช้งานง่าย ใช้เวลาในการสกัดเพียง 5-10 นาที 2) ขั้นตอนที่สอง คือ การนำดีเอ็นเอที่สกัดได้มาใส่ในหลอดน้ำยาแลมป์ XO-AMP หรือ Real-AMP 3) ขั้นตอนที่สาม คือ การทดสอบและอ่านผล โดยนำหลอดน้ำยาแลมป์ที่เติมดีเอ็นเอเรียบร้อยแล้วไปบ่มที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากบ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ตรวจสามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า หากสีของน้ำยาเปลี่ยนจากม่วงเป็นเหลืองแปลว่าพบการติดเชื้อ ส่วนเทคนิค Real-AMP ผู้ตรวจจะอ่านผลได้จากเส้นกราฟที่แสดงบนหน้าจอแท็บเล็ตซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องวัดความขุ่นแบบเรียลไทม์

จุดเด่นนวัตกรรม :

  • เกษตรกรสามารถใช้ชุดตรวจโรคได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากมีขั้นตอนที่ง่าย อ่านและแปลผลได้เอง และรู้ผลไว สามารถจัดการควบคุมป้องกันความเสียหายได้ทันถ่วงที
  • ชุดตรวจมีราคาที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการบริหารจัดการฟาร์มลง
  • ชุดตรวจ XO-AMP และ Real-AMP มีประสิทธิภาพในการตรวจสูงเทียบเท่าการตรวจด้วยเทคนิค PCR ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจมาตรฐานในระดับห้องปฏิบัติการ​ทั้งด้านความไว (sensitive) ความแม่นยำ และความจำเพาะในการตรวจ
ชุดตรวจโรคกุ้ง XO-AMP
เครื่องวัดความขุ่นแบบเรียลไทม์

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : 

คุณลินดา อารีย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. เบอร์โทรศัพท์ : 02-564-6700 ต่อ 3301 หรืออีเมล : [email protected]

ภาพบรรยากาศการสอนผู้ประกอบการหรือเกษตรกรใช้งานชุดตรวจ
ภาพบรรยากาศการสอนผู้ประกอบการหรือเกษตรกรใช้งานชุดตรวจ
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.nstda.or.th/home/news_post/sci-update_shrimp-disease-lamp/